พาลิเพอริโดน (Paliperidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพาลิเพอริโดน(Paliperidone หรือ Paliperidone palmitate)เป็นหนึ่งในกลุ่มยารักษาโรคจิต รุ่นที่ 2 (Atypical antipsychotic) ทางคลินิกนำยานี้มาใช้รักษาอาการของโรคจิตเภท(Schizophrenia) และบางกรณีก็นำมาใช้รักษาโรคอารมณ์สองขั้ว(Bipolar disorder) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ที่สมอง โดยมีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทเสียใหม่ ในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) นักวิทยาศาสตร์ได้นำยาพาลิเพอริโดนมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพทางคลินิกกับยาบำบัดอาการทางจิตเภทชนิดอื่นๆ และพบว่ายาพาลิเพอริโดน มีประสิทธิภาพดีกว่ายา Haloperidol, Quetiapine, และ Aripiprazole, แต่มีประสิทธิภาพด้อยกว่ายา Clozapine, Olanzapine, และ Risperidone จากข้อสรุปดังกล่าว เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยาพาลิเพอริโดนเป็นยาทางเลือกของจิตแพทย์ และมีจำหน่ายในประเทศไทย

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาพาลิเพอริโดนคือ ยาชนิดรับประทาน และยาฉีด กรณียารับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 28% และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 23 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้ผู้ที่รับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์เพียงวันละ1 ครั้ง ก็เพียงพอที่จะควบคุมอาการจิตเภทได้แล้ว

สำหรับข้อห้ามใช้และข้อควรระวังของยาพาลิเพอริโดนมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยายาพาลิเพอริโดน หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตที่มีความรุนแรงโรคระดับปานกลางขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีประวัติ หัวใจเต้นผิดปกติ ด้วยยานี้สามารถทำให้อาการโรคดังกล่าวกำเริบ และทวีความรุนแรงได้มากขึ้น
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุที่มีโรคความจำเสื่อมร่วมด้วย มีรายงานทางคลินิก พบว่าผู้สูงอายุที่ใช้ยาพาลิเพอริโดน มีโอกาสเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย หรือ จากภาวะปอดบวม ญาติจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลและสังเกตอาการของผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดเมื่อผู้ป่วยฯต้องใช้ยานี้
  • การเลือกใช้ยาพาลิเพอริโดนในรูปแบบยาฉีด หรือยารับประทาน นั้น แพทย์จะ พิจารณาจากความเหมาะสมของอาการและความสะดวกของผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วย ต้องใช้ยาฉีด ควรพาผู้ป่วยมารับบริการที่สถานพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ขณะที่ได้รับยานี้ แล้วมีอาการวิงเวียน ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ หรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้ จะต้องใช้เวลาพอประมาณจึงจะทำให้อาการทางจิตดีขึ้น ในช่วงเวลานี้ ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดใช้ยานี้กะทันหันโดยมิได้ขอคำ ปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะก่อให้เกิดอาการวิงเวียน และกระทบต่อการทำงานของหัวใจ มากยิ่งขึ้น
  • ยาพาลิเพอริโดน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยสูงขึ้น สังเกตจากผู้ป่วยจะมีอาการกระหายน้ำ รู้สึกสับสน ง่วงนอน หน้าแดง หายใจเร็ว ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ กรณีพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามนำผู้ป่วยไปอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน เพราะผู้ที่ได้รับยานี้ มีโอกาสเกิดลมแดดได้ง่าย
  • การใช้ยาพาลิเพอริโดน อาจนำมาซึ่งภาวะ/กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส Neuroleptic Malignant Syndrome (NMS) โดยผู้ป่วยอาจมี อาการไข้ กล้ามเนื้อหดแข็งเกร็ง รู้สึกสับสน หัวใจเต้นเร็ว มีความคิดแปลกๆ เหงื่อออกมาก หากพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ยานี้สามารถทำให้น้ำหนักตัวผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ /พยาบาล/เภสัชกร เพื่อควบคุมน้ำหนักของร่างกายให้เป็นปกติเสมอ
  • ยาพาลิเพอริโดน อาจทำให้ระดับฮอร์โมนโปรแลกตินในเลือดเพิ่มมากขึ้น สังเกตจากผู้ป่วยจะมีหน้าอก/เต้านมขยายใหญ่ขึ้น และ/หรืออาจมีน้ำนมไหลผิดปกติ กรณีนี้ ต้องรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการบริหารยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • แพทย์จำเป็นต้องนัดตรวจร่างกายผู้ป่วยเป็นระยะๆ รวมถึงต้องตรวจสารเคมีใน เลือดว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น ค่าเอนไซมการทำงานของตับ ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง

การรักษาอาการจิตเภทเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การใช้ยาพาลิเพอริโดนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ป่วยจิตเภท โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด

ในประเทศไทยเราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Invega”

พาลิเพอริโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

พาลิเพอริโดน

ยาพาลิเพอริโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาโรคจิตเภท (Schizophrenia)

พาลิเพอริโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาพาลิเพอริโดน จะมีกลไกการออกฤทธิ์ในลักษณะที่เรียกว่า Dopamine antagonist และ Serotonin antagonist จึงทำให้สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองกลับมาใกล้เคียงกับสภาวะปกติ ส่งผลกับการแสดงออกของผู้ป่วยต่อสิ่งแวดล้อม ได้ดีขึ้น

พาลิเพอริโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพาลิเพอริโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Paliperidone 3 ,6 และ 9 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วย Paliperidone 50 ,75 ,100 และ 150 มิลลิกรัม/หลอดพร้อมฉีด

อนึ่ง สำหรับยาพาลิเพอริโดนที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นยาควบคุมพิเศษ โดยต้องมีการสั่งจ่ายยานี้จากแพทย์เท่านั้น

พาลิเพอริโดนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาพาลิเพอริโดน มีขนาดการบริหารยาสำหรับรักษาอาการจิตเภท เช่น

ก. กรณียารับประทาน:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 6 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งตอนเช้า ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หากจำเป็นทุกๆ 5 วัน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มอีก 3 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ โดยขนาด รับประทานปกติของยานี้ จะอยู่ในช่วง 3–12 มิลลิกรัม/วัน โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

ข. กรณียาฉีด:

  • ผู้ใหญ่: วันแรกฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 150 มิลลิกรัม ต่อมาอีก 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับ เป็นฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 100 มิลลิกรัม และทุกๆ 1 เดือนนับจากการให้ยาครั้งที่ 2 แพทย์ จะนัดผู้ป่วยมารับการฉีดยา 75 มิลลิกรัม/เดือน ขนาดการใช้ยาทั่วไปอยู่ในช่วง 50–150 มิลลิกรัม/เดือน โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา ส่วน ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • การใช้ยาอื่นใดกับผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้ ต้องผ่านความเห็นจากแพทย์ก่อนเสมอ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการมีภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา พาลิเพอริโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาและ/หรือ อาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาาลิเพอริโดน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพาลิเพอริโดน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

พาลิเพอริโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพาลิเพอริโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตสูง หรือความดันโลหิตต่ำ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ใบหน้าแดง เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน วิงเวียน ตัวสั่น ลิ้นแข็ง/ลิ้นเคลื่อนไหวผิดปกติ มีอาการชัก ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ฝันร้าย ซึม มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง เกิดอาการคลั่ง อารมณ์ทางเพศถดถอย กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาหารไม่ย่อย ปากแห้ง คลื่นไส้ น้ำลายมาก ท้องอืด ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่าย ไอ หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ หายใจขัด/หายใจลำบาก ปอดบวม ทอนซิลอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มหรืออาจลดลง เบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารได้มากขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ คอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ปวดข้อ ข้อบวม ปวดต้นคอ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ตาแห้ง จอตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ปริมาณฮอร์โมนโปรแลกตินในเลือดเพิ่มขึ้น มีสารคัดหลั่ง/น้ำนมออกจากหัวนม หน้าอก/เต้านมโต
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย ปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น มีอาการตัวเหลือง
  • อื่นๆ: ประจำเดือนขาดในสตรี

มีข้อควรระวังการใช้พาลิเพอริโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพาลิเพอริโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องอยู่ในความดูแลของ แพทย์/พยาบาล อย่างใกล้ชิด
  • ระหว่างการใช้ยานี้ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องจักร เพราะผลข้างเคียงจากยานี้ที่ทำให้เกิดอาการวิงเวียน อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บนยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพาลิเพอริโดนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

พาลิเพอริโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพาลิเพอริโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาพาลิเพอริโดนร่วมกับยา Biszoprolol (ยาลดความดันโลหิต) ด้วยจะทำให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำมากตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพาลิเพอริโดนร่วมกับยา Azithromycin เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจนส่งผลรุนแรงต่อร่างกายผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาพาลิเพอริโดนร่วมกับยา Haloperidol ด้วยจะส่งผลต่อการทำงานของ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การใช้ยาพาลิเพอริโดนร่วมกับยา Bupropion อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชัก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาพาลิเพอริโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาพาลิเพอริโดนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

พาลิเพอริโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพาลิเพอริโดน

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Invega (อินเวกา)Janssen-Cilag
Invega Sustenna (อินเวกา ซัสเทนนา)Janssen-Cilag

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Paliperidone[2017,Sept16]
  2. https://www.drugs.com/dosage/paliperidone.html#Usual_Pediatric_Dose_for_Schizophrenia[2017,Sept16]
  3. https://www.drugs.com/sfx/paliperidone-side-effects.html[2017,Sept16]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/paliperidone/?type=brief&mtype=generic[2017,Sept16]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/invega%20sustenna/?type=brief[2017,Sept16]