พาร์กินสัน: ตอนที่ 15 เดี๋ยวดีเดี๋ยวไม่ดี

พาร์กินสัน-15


อาการของผู้ป่วยพาร์กินสันนั้นในช่วงแรก ๆ หลังจากได้ยารักษาไปแล้ว ผู้ป่วยก็จะตอบสนองต่อการรักษาดีมาก เรียกว่า 80-90 % บางรายบอกว่าปกติเลย จึงเรียกช่วงแรกของการรักษาว่า “ช่วงน้ำผึ้งพระจันทร์ (honey moon period)” แต่พอผ่านไป 3 ปี 5 ปี 7 ปี เริ่มมีปัญหาเพิ่มขึ้น ดังผู้ป่วยรายนี้

“หมอครับ ผมอยากบอกว่าช่วงนี้ไม่ค่อยดีเลยครับ คือ อาการสั่นและตัวแข็งของผม เดี๋ยวมันดี เดี๋ยวมันก็ไม่ดี ไม่รู้ว่าเป็นอะไรครับ แต่ก่อนทานยาไปก็สบายดีทั้งวัน เดี๋ยวนี้ทานยาไป มันก็ดีครับ แต่ดีแค่ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น พอหลังจากนั้น ผมแทบทำอะไรไม่ได้เลยครับ มันแย่มากๆ ครับ ช่วยทำให้ผมดีขึ้นเหมือนเดิมด้วยนะครับ”

อาการที่ผู้ป่วยรายนี้เล่าให้ฟังที่มีอาการดีขึ้นแต่ดีไม่นาน สั้นลงกว่าเดิม จากที่ดีทั้งวัน ต่อมามีอาการดีเพียง 3 ชั่วโมง ภาวะนี้เรียกว่า อาการดีลดลงแบบระยะเวลาสั้นลง (wearing off) ขยายความให้ชัดเจน เช่น ตอนแรกผู้ป่วยทานยาพาร์กินสันได้ผลดี 4- 5 ชั่วโมง การทานยาก็ทาน 3 เวลาหลังอาหาร อาการก็ปกติทั้งวัน แต่พอช่วงที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นนั้น ยาที่ออกฤทธิ์ได้นาน 4-5 ชั่วโมงก็ออกฤทธิ์เหลือเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น พอทานยาใหม่ก็ออกฤทธิ์ดี และก็หมดฤทธิ์ 3 ชั่วโมงเหมือนเดิม

สาเหตุที่เกิดภาวะนี้ก็คือว่า การดูดซึมของยาที่ทานเข้าไปนั้นอาจดูดซึมได้ลดลง จากภาวะที่ลำไส้มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือ เกิดจากที่ตัวรับสารสื่อประสาท (receptor) ลดลงหรือตอบสนองลดลง เป็นต้น จึงส่งผลให้เกิดอาการยาออกฤทธิ์ได้สั้นลง

การแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การทานยาถี่ขึ้นก่อนที่ยาจะหมดฤทธิ์ หรือการทานยาเป็นก่อนอาหารเพื่อลดปัญหายาตีกับอาหาร (drug food interaction) เนื่องจากยาจะจับกับโปรตีนในอาหาร ทำให้ออกฤทธิ์ได้ลดลง หรือไม่ก็ทานยาต้านเอ็นไซม์ ซี โอ เอ็ม ที (COMPT inhibitor) เพื่อลดการทำลายยา ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น

“คุณลุงครับ อาการที่คุณลุงเป็นนั้นน่าจะเกิดจากการที่คุณลุงมีอาการของโรคพาร์กินสันมาระยะหนึ่ง แล้วธรรมชาติของโรคนี้เมื่อผ่านไป 3-4 ปี ก็จะเริ่มตอบสนองต่อยาลดลง อาการก็จะเป็นแบบนี้ วิธีการแก้ไข ผมจะเริ่มจากให้ลุงปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาจากหลังอาหารเป็นก่อนอาหารก่อน แล้วผมจะขอดูอาการคุณลุงระยะหนึ่ง ถ้ายังไม่ดีขึ้นอีก ผมก็จะให้ลุงทานยาถี่ขึ้นครับ รับรองว่าดีขึ้นเหมือนเดิมแน่นอนครับ แต่ลุงจะต้องไม่ให้ท้องผูกนะครับ ทานอาการที่เป็นเนื้อสัตว์ลดลงหน่อยก็ดีครับ อย่าเครียดด้วยครับ ที่สำคัญอย่าแอบทานยาเพิ่มขึ้นแล้วไม่บอกหมอนะครับ”

หลังจากนั้นอีก 1 เดือน ผมนัดผู้ป่วยมาพบอีก ก็พบว่าอาการผู้ป่วยนั้นดีขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ป่วยบอกกับผมว่า “หมอครับ ผมขอบคุณหมอมาก ตอนนี้ผมดีขึ้นเหมือนเดิมแล้วครับ ผมหวังว่ามันจะดีแบบนี้ไปนานๆ นะครับ” ผมก็ได้ยิ้มตอบรับคำพูดของลุงอย่างมีความสุขครับ ความสุขของหมอ คือ การที่รักษาผู้ป่วยให้หายจากอาการเจ็บป่วยครับ