พาราด็อกซิคอลรีแอกชัน (Paradoxical Reaction)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา เป็นสารเคมีหรือสารชีวเคมีที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะออกฤทธิ์ในการป้องกัน บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค ซึ่งปัจจุบัน มียาหลายขนานซึ่งถูกจัดจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ จากการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่เกิดอาการตรงกันข้ามกับผลการรักษาที่คาดหวังจากยาบางประเภท ซึ่งเรียกเหตุการณ์เหล่านี้ว่า “ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ หรือพาราด็อกซิคอลรีแอกชัน (Paradoxical Reaction)”

*อนึ่ง “ปฏิทรรศน์” หมายถึง การเกิดเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับที่เราคาดหวังไว้ และเนื่องจากยังไม่มีศัพท์บัญญัติในภาษาไทยสำหรับเรียก ปฏิกิริยา Paradoxical Reaction นี้ ผู้เขียนจึงขอเรียกปฏิกิริยานี้ในภาษาไทยในบทความนี้ว่า “ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์”

ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ หรือ พาราด็อกซิคอลรีแอกชัน (Paradoxical Reaction) เป็นรูปแบบปฏิกิริยาจากร่างกายที่ตอบสนองในทางตรงกันข้ามกับข้อบ่งใช้หรือกับฤทธิ์ยาที่แพทย์คาดหวังจากตัวยา พบได้ในยาบางกลุ่ม/บางประเภท อาทิเช่น ยาคลายเครียด(Tranquilizers) ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (Benzodiazepines) และยาในกลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturates)

ผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยาปฏิทรรศน์นี้ จะพบว่า มีการเคลื่อนไหวของร่างกายมากกว่าปกติ พูดมากขึ้น มีอาการตื่นตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับฤทธิ์ของยาคลายเครียดที่ช่วยให้ผู้ป่วยคลายกังวล มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงนอน เป็นต้น ส่วนในกลุ่มยาอื่นๆที่พบว่าสามารถเกิดปฏิกิริยาชนิดนี้ได้ ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคจิตเภท (Antipsychotics) กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า (Antidepressants) และยาปฏิชีวนะ(Antibiotics)บางตัว เช่นยา Penicillin

ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้น้อย พบได้ไม่บ่อย โอกาสการเกิดปฏิกิริยานี้กับผู้ป่วยมีความแตกต่างกันไป ทั้งตามชนิดของยา และจากตัวผู้ป่วยเองในแต่ละคน

ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์มีสาเหตุมาจากอะไร? อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด?

พาราด็อกซิคอลรีแอกชัน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดถึงการเกิดปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ของร่างกาย

  • ในส่วนของยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนที่ใช้คลายเครียดหรือคลายกังวลนั้น สันนิษฐานว่า อาจมีความเชื่อมโยงระหว่างพันธุกรรมกับปฏิกิริยานี้ ซึ่งปฏิกิริยานี้จากยากลุ่มนี้พบได้บ่อยกว่าในผู้ป่วยเด็กและในผู้ป่วยวัยชรา หรือในผู้มีประวัติการดื่มเหล้าหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่มาก หรือในผู้ที่มีประวัติการเกิดความผิดปกติทางจิตใจ (Psychological Disturbance)
  • ในส่วนปฏิกิริยานี้ต่อยาในกลุ่มรักษา/ต้านโรคซึมเศร้า พบได้บ่อยกว่าในกลุ่มผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น ที่แพทย์สันนิษฐานว่า ผู้ป่วยวัยนี้ น่ามีความไวต่อตัวยากลุ่มนี้มากกว่าในผู้ใหญ่
  • ส่วนในกลุ่มยาอื่นๆ ยังไม่ทราบสาเหตุความเชื่อมโยงที่แน่ชัด

ผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยาปฏิทรรศน์นี้มีอาการอย่างไรบ้าง?

ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ จะมีรูปแบบอาการแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทของยา ได้แก่

ก. ยาในกลุ่มเบนโซอะซีพีน (Benzodiazepines) และยาในกลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturates): ยาในสองกลุ่มนี้มีการนำมาใช้ในการรักษาอาการวิตกกังวล และใช้เป็นยาคลายเครียด ยามีฤทธิ์โดยทั่วไปที่ทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและทำให้ง่วงนอน ผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยาปฏิทรรศน์จากยาในกลุ่มเหล่านี้ จะพบว่าหลังจากได้รับยากลุ่มเหล่านี้แล้ว ผู้ป่วยจะพูดมากขึ้น มีความตื่นตัว เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ รวมถึงอาจมีอารมณ์โกรธ โมโห ไม่เป็นมิตร

ข. ยารักษาโรคจิตเภท (Antipsychotics): เช่น ยากลุ่มฟีโนไทอะซีน (Phenothiazine) เช่นยา คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ที่พบในผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่า ผู้ป่วยจะเกิดอาการกระสับกระส่าย (Agitation) สับสน นอนไม่หลับ ฝันร้าย มีอาการเพ้อ มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ภายหลังการได้รับยานี้ไปแล้วไม่กี่วัน แม้แต่ใช้ยากลุ่มนี้ในขนาดต่ำๆก็ตาม

ค. ยาต้านซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า (Antidepressants): ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ที่พบจากยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่พบในเด็กและในวัยรุ่น ซึ่งเชื่อว่า ผู้ป่วยวัยดังกล่าว มีความไวต่อตัวยาเหล่านี้มากกว่าผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย แต่ก็พบเกิดได้น้อยมาก อย่างไรก็ดี การใช้ยาในกลุ่มนี้ควรรับฟังคำแนะนำจาก แพทย์ พยาบาล และจากเภสัชกร และปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด

ง. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics): พบปฏิกิริยานี้ที่รายงานครั้งแรกในยาเพนิซิลลิน (Penicillin) เมื่อให้ขนาดยาสูงๆ กลับพบว่าประสิทธิผลการฆ่าเชื้อแบคทีเรียลดลง และในโรคต่อมน้ำเหลืองอักเสบจากการติดเชื้อวัณโรค (Tuberculous lymphadenitis) ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์จะพบว่าหลังจากให้ยาวัณโรคไปแล้ว แต่ต่อมน้ำเหลืองกลับมีขนาดใหญ่ขึ้น

เมื่อใดควรพบแพทย์?

หากใช้ยาที่อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ “สาเหตุฯ” และเกิดอาการปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” หรือสังเกตว่าบุคคลใกล้ชิดที่ใช้ยาดังกล่าวมีอาการที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อ”อาการฯ” ให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที

แพทย์วินิจฉัยและรักษาปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ได้อย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ ได้จากลักษณะทางคลินิก มักไม่มีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม ซึ่งลักษณะทางคลินิก ได้แก่ การสังเกตอาการที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ร่วมกับการซักถาม/สอบถามประวัติการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วย และการตรวจร่างกายผู้ป่วย

การรักษา: การรักษาปฏิกิริยานี้ ไม่ได้มีแนวปฏิบัติที่แน่นอน เป็นการรักษาไปตามลักษณะอาการ(การรักษาประคับประคองตามอาการ) หรือการให้ยาอื่นๆที่ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับฤทธิ์ของยาที่เป็นสาเหตุปฏิกิริยาปฏิทรรศน์เพื่อเป็นตัวต้านฤทธิ์ยาที่เป็นสาเหตุปฏิกิริยานี้ เช่น การใช้ยาฟลูมาซีนิล (Flumazenil) ในการรักษาปฏิกิริยานี้ที่เกิดจากยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน และรวมไปถึงการหยุดยาและเปลี่ยนยาที่เป็นสาเหตุของปฏิกิริยานี้

การพยากรณ์โรคของปฏิกิริยาปฏิทรรศน์เป็นอย่างไร?

ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก จากรายงาน พบว่า

  • ในกลุ่มยาเบนโซไดอะซีนพีน มีโอกาสเกิดปฏิกิริยานี้ได้น้อยกว่าร้อยละ 1(1%) ซึ่งพบความเชื่อมโยง/โอกาสเกิดมากกว่า ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กและในผู้ป่วยชรา
  • เช่นเดียวกับปฏิกิริยานี้จากยาในกลุ่มยาต้านซึมเศร้าที่พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่อัตราการเกิดในผู้ใช้ยานี้ มีมากกว่าบุคคลทั่วไป คือ จาก 2 คน ใน 1,000 คนสำหรับคนทั่วไป เป็น 4 คนใน 1,000 คนในผู้ใช้ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRI เช่น ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine), ยาพาโรซิทีน (Paroxetine) เป็นต้น

ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างไร?

ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ เป็นปฏิกิริยาที่อาจแสดงให้เห็นว่า ยาที่ใช้ในการรักษาอยู่นั้น อาจไม่ใช่ยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย แพทย์อาจเลือกใช้ยาตัวอื่นแทนในการรักษาโรคนั้นๆ หรือรักษาอาการนั้นๆของผู้ป่วย

ในส่วนของผลข้างเคียงจากปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ที่เกิดขึ้น โดยทั่วไป ไม่มีความรุนแรง แต่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้บ้าง เช่น ปฏิกิริยานี้ที่เกิดชึ้นจากยาในกลุ่มยาคลายเครียด อาจทำให้ผู้ป่วยมี อารมณ์โมโห ฉุนเฉียวได้ง่าย และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี เป็นต้น

ดูแลและป้องกันตัวเองจากปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ได้อย่างไร?

ปฏิกิริยาปฏิทรรศน์ที่เกิดขึ้นจากยาแต่ละชนิด/แต่ละประเภท เป็นปฏิกิริยาที่พบได้น้อยมากและไม่สามารถคาดเดาโอกาสเกิดได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับทั้งชนิดตัวยา และตัวผู้ป่วยเอง วิธีป้องกันที่ดีคือ การฟังคำแนะนำการใช้ยาต่างๆจากแพทย์ พยาบาล และจากเภสัชกรให้เข้าใจ และรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที หากมีอาการที่กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อ”อาการฯ”

บรรณานุกรม

  1. Anil Nischal, Adarsh Tripathi, Anuradha Nischal, and J. K. Trivedi. Suicide and Antidepressants: What Current Evidence Indicates. Mens Sana Monogr. 2012 Jan-Dec; 10(1): 33–44.
  2. Carissa E., et al. Paradoxical Reactions to Benzodiazepines: Literature Review and Treatment Options. Pharmacotherapy. 2004; 24(9): 1177-85.
  3. Eagle H, Musselman AD. The rate of bactericidal action of penicillin in vitro as a function of its concentration, and its paradoxically reduced activity at high concentrations against certain organisms. J Exp Med. 1984; 88 (1): 99–131.
  4. Jeanne Lenzer. Antidepressants double suicidality in children, says FDA. BMJ. 2006 Mar 18; 332(7542): 626..
  5. Mary V. Seeman and Federick Goldner. Paradoxical Effects of Phenothiazines. Research Division, Manhattan State Hospital. https://www.researchgate.net/profile/Mary_Seeman/publication/226597232_Paradoxical_effects_of_phenothiazines/links/0fcfd50880e2f08cc4000000.pdf?origin=publication_detail[2017,May13]