พามิโดรเนท (Pamidronate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ ยาอะไร?

มะเร็งบางชนิดอาจทำให้เกิดการทำลายของเซลล์กระดูก ส่งผลให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับความเจ็บปวดจากการที่เซลล์กระดูกที่ถูกทำลายไป ยาพามิโดรเนท (Pamidronate) เป็นยาในกลุ่มยาบิสฟอสโฟเนตส์ (Bisphosphonates) ใช้ในการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูง หรือรักษากระดูกที่ถูกทำลายโดยมะเร็งชนิดต่างๆโดยเฉพาะมะเร็งไขกระดูก ชนิด มัลติเพิลมัยอีโลมา/ Multiple Myeoloma และ มะเร็งเต้านม นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในการรักษาโรคพาเจตส์ (Paget's disease of bone) ซึ่งเป็นโรคที่ร่างกายผู้ป่วยสร้างกระดูกที่มีความผิดปกติ คือ เปราะบาง แตกหักง่าย

ยาาพามิโดรเนท เป็นยาฉีดปราศจากเชื้อ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายยาของไทย ใช้ตามแพทย์สั่งยา และผู้ป่วยควรเข้ารับการบริหารยาในสถานพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายอย่างเคร่งครัด

ยาพามิโดรเนทมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?

พามิโดรเนท

ยาพิโดรเนทมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:

ก. โรค/ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)

ข. ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษากระดูกที่ถูกทำลายจากมะเร็งชนิดต่างๆเช่น มะเร็งไขกระดูกชนิด มัลติเพิลมัยอีโลมา/ Multiple Myeoloma หรือมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (ระยะที่ 4)

ค. โรคพาเจทของกระดูก (Paget's disease of bone)

ยาพามิโดรเนทออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาพามิโดรเนท ออกฤทธิ์โดยตัวยาทำหน้าที่ในการยับยั้งการทำงานของเซลล์ออสทิโอคลาส (Osteoclast) ของกระดูกซึ่งเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ในการสลายเซลล์กระดูก ทำให้การสลายเซลล์กระดูกลดลง และสามารถคงระดับ

หรือเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระดูกได้มากขึ้น นอกจากนี้ยาพามิโดรเนทยังมีส่วนช่วยในการควบคุมการสร้างเซลล์ออสทิโอคลาส และกระ ตุ้นให้เกิดการสลายของเซลล์ออสทิโอคลาสในกระดูกอีกด้วย

ยาพามิโดรเนทมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพามิโดรเนทมีรูปแบบเป็นเภสัชภัณฑ์:

  • ยาฉีด ขนาดความแรง 30 มิลลิกรัมต่อ 10 มิลลิ ลิตร และ 15 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร

ยาพามิโดรเนทมีขนาดบริหารอย่างไร?

ยาพามิโดรเนทมีขนาดบริหารยา/ใช้ยาโดยทั่วไป เช่น

ก. ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง: ใช้ขนาดยา 60 - 90 มิลลิกรัม

ข. ภาวะกระดูกถูกทำลายจากโรคมะเร็งไขกระดูก มัลติเพิลมัยอีโลมา/ (Multiple Myeoloma): ใช้ขนาดยา 90 มิลลิ กรัมเดือนละหนึ่งครั้ง

ค. ภาวะปวดกระดูกจากมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (Breast Cancer, Osteolytic bone Metastases): ใช้ขนาดยา 90 มิลลิกรัมทุกๆ 3 - 4 สัปดาห์

ง. โรคพาเจตส์ของกระดูก (Paget's disease of bone): ใช้ขนาดยา 30 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 3 วันต่อเนื่องกัน (รวม 90 มิลลิกรัม)

อนึ่ง: ขนาดยาดังกล่าวเป็นขนาดยาแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น ขนาดยาและความถี่การให้ยายังขึ้นอยู่กับสภาวะของไต โรค หรือปัจจัยอื่นๆของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาพามิโดรเนท ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ หัวข้อ ‘ยาพามิโดรเนทมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?’)
  • แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ หากกำลังใช้ยาเคมีบำบัดหรืออยู่ในระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง รวมไปถึงการใช้ยาเสตียรอยด์ชนิดรับประทานอาทิ ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบหากคุณอยู่ระหว่างการใช้รังสีรักษา หรือมีประวัติได้รับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ประวัติโรคลมชัก โรคตับ และโรคไต
  • แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบหากคุณกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงการให้นมบุตร หากตรวจพบว่าเกิดการตั้งครรภ์ขณะอยู่ในระหว่างการใช้ยาพามิโดรเนทให้แจ้งให้แพทย์ทราบโดยทันที
  • แจ้งให้ทันตแพทย์ทราบหากต้องเข้ารับการผ่าตัดทางทันตกรรมว่ากำลังใช้ยานี้อยู่ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

หากลืมบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมหรือพลาดนัดหมายเพื่อรับยาพามิโดรเนท ให้แจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือติดต่อสถานพยาบาลที่คุณรับการรักษาอยู่ทันทีเพื่อนัดหมายการให้ยา

ยาพามิโดรเนทมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาพามิโดรเนทอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) เช่น

  • อาการบวมแดงหรืออาการอักเสบในบริเวณที่ฉีดยา
  • ปวดท้อง
  • สูญเสียการรับรสหรือการรับรสเปลี่ยนไป
  • ท้องผูก
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • อาการแสบยอดอก
  • มีแผลในช่องปาก
  • มีไข้
  • ปวดหัว
  • มึนงง
  • นอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก
  • ไอ
  • อาการบวมตาม มือ แขน เท้า ข้อเท้า และน่องขา

ทั้งนี้หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ทุเลาลง ให้รีบแจ้งให้แพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

อนึ่ง ยาพามิโดรเนทอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรง เช่น

  • ปวดหรือเหงือกบวม
  • ฟันหลุด
  • ปวดหรือชาบริเวณกราม
  • ปวดหรือแสบบริเวณรอบๆปาก
  • ไอเป็นเลือด
  • หายใจไม่สะดวก /หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • เป็นลม
  • ปวดหรือเจ็บตา
  • ผู้ป่วยบางคนหลังได้รับยาพามิโดรเนทแล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น
    • มีผื่นคันขึ้นตามร่างกาย
    • เกิดอาการบวมบริเวณ คาง ริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา
    • อาจเกิดร่วมกับการหายใจไม่สะดวก
  • *****หากเกิดอาการทั้งหลายนี้ให้รีบไปโรง พยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ อาจพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลทันที่/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ยาพามิโดรเนทมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาพามิโดรเนทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ เช่น

ก. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) เช่น ยาเจนตาไมซิน (Gentamycin), ยาอะมิเคซิน (Amikacin), โดยอาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลงมากกว่าปกติเมื่อใช้ร่วมกับยาพามิโดรเนท จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดยาเป็นกรณีๆไป

ข. ยาต้านอักเสบที่มิใช่เสตียรอยด์ (Non-steriodal Anti-inflammatory Agents, NSAIDs) เช่น ยาไดโคลฟีแนก (Diclofenac), ยานาพรอกเซน (Naproxen), หากใช้ร่วมกับยาพามิโดรเนทอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลในทางเดินอาหารรวมไปถึงอาจเป็นพิษต่อไต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดยาเป็นกรณีๆไป

ค. ยาลดความดันโลหิตกลุ่มยับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซิน (Angiotensin Inhibitors) เช่น ยา อะนิลาพริล (Enalapril), ยาไลซิโนพริล (Lisinopril), การใช้ยานี้ร่วมกับยาพามิโดรเนทอาจทำให้ผลข้างเคียงของยาพามิโดรเนทมากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการปวดบริเวณกราม จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดยาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง รายการยาที่ยกตัวอย่างเบื้องต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จึงควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบว่าผู้ป่วยกำลังใช้ยาอะไรบ้าง ยาบางชนิดแม้จะมีปฏิกิริยาระหว่างยาต่อกัน แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ร่วมกันหากประโยชน์จากการรักษามากกว่าโทษหรือมากกว่าผลข้าง เคียงจากยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ต่อผู้ป่วยเป็นเฉพาะรายๆไป

มีข้อควรระวังในการใช้ยาพามิโดรเนทอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาพามิโดรเนท เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือ กำลังอยู่ระหว่างการให้นมบุตร
  • หากใช้ยานี้และพบว่ามีอาการปวดบริเวณกรามบนใบหน้าซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุน แรงโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางทันตกรรมขณะใช้ยานี้ ให้แจ้งให้แพทย์ทราบโดยทันที ดังนั้นหากผู้ป่วยมีปัญหาในช่องปากควรได้รับการดูแลจากทันตแพทย์ก่อนการเริ่มใช้ยานี้
  • ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติ โรคไต โรคแคลเซียมในเลือดต่ำ หรือวิตามินดีในเลือดต่ำ โรคแผลในหลอดอาหาร และแผลในระบบทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพามิโดรเนท) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาพามิโดรเนทอย่างไร?

โดยทั่วไป ยาพามิโดรเนทควรได้รับการบริหารหรือการให้ยาที่สถานพยาบาลเท่านั้น โดยเก็บยานี้ใน

  • ที่แห้ง
  • ไม่ร้อน
  • ไม่ถูก แสง/ แสงแดดโดยตรง
  • อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส/Celsius)
  • ภายหลังผสมยาแล้วควรบริหารยาให้ผู้ป่วยทันที หากไม่ใช้ในทันทีควรปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงวิธีการเก็บรักษายานี้ที่ผสมแล้วต่อไป

ยาพามิโดรเนทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพามิโดรเนท มียาชื่อการค้าอื่นๆ เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
พามิซอล (Pamisol)บริษัท อินโดไชน่า เฮลท์ แคร์ จำกัด
อะรีเดีย (Aredia)บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด

บรรณานุกรม

  1. Pamidronate: Drug Information, Lexicomp® [Online] UpToDate®. Retrieved on October 24, 2015.
  2. Zarychanski R, Elphee E, Walton P, Johnston J. Osteonecrosis of the jaw associated with pamidronate therapy. Am J Hematol 2006;81(1): 73–5.
  3. https://www.drugs.com/mtm/pamidronate.html [2021,Jan23]