พามาบรอม (Pamabrom)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพามาบรอม (Pamabrom) เป็นยาขับปัสสาวะถูกนำมาใช้บำบัดรักษาอาการบวมน้ำหรือภาวะที่มีน้ำคั่งอยู่ในร่างกายมากเกินปกติ ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด หรือผู้ที่แพ้ยานี้ และห้ามใช้กับผู้ป่วยเด็ก นอกจากนี้ยังมีข้อพึงระวังการใช้พามาบรอมกับผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น การรับประทานยานี้ไม่ควรเกิน 4 ครั้งต่อวันด้วยจะทำให้การขับปัสสาวะมีความถี่มากก่อให้เกิดความรำคาญ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอ 6 - 8 แก้วต่อวันเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำในระหว่างที่ใช้ยานี้

ผลข้างเคียงที่โดดเด่นของยานี้จะเป็นเรื่องปัสสาวะมีสีเหลืองเพียงเท่านั้น ปกติแพทย์หรือเภสัชกรจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้าเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีความกังวลใจจนเกินไป และกรณีใช้ยานี้แล้วแพ้ยานี้เช่น มีอาการอึดอัด/หายใจลำบาก ผื่นขึ้นเต็มตัว ตัวบวม มีไข้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน สำหรับประเทศไทยอาจพบเห็นการใช้ยานี้ในบางสถานพยาบาลเท่านั้น

พามาบรอมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

พามาบรอม

ยาพามาบรอมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการบวม (Swelling) ของร่างกาย

พามาบรอมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาพามาบรอมมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเร่งการขับปัสสาวะ/ขับน้ำของไต จึงส่งผลทำให้อาการบวมที่มีสาเหตุจากการสะสมน้ำตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายลดลง

พามาบรอมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพามาบรอมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

ก. ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด

ข. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Pamabrom 25 มิลลิกรัม + Dicyclomine hydrochloride 10 มิลลิกรัม + Paracetamol 325 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Pamabrom 25 มิลลิกรัม + Acetaminophen 325 มิลลิกรัม/เม็ด

พามาบรอมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาพามาบรอมมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานเริ่มต้น 50 มิลลิกรัมหลังอาหารเช้า จากนั้นให้รับ ประทาน 50 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมง หรือรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ ห้ามรับประทานยาเกิน 4 ครั้ง/วัน

*อนึ่ง: ขณะรับประทานยานี้ควรดื่มน้ำ 6 - 8 แก้วต่อวันเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย และช่วยมิให้ไตทำงานหนักเกินไป

  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: เนื่องจากอาจเกิดการใช้ยาเกินขนาดได้สูงในบุคคลกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในคนกลุ่มนี้จึงอาจใช้เฉพาะกรณีอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาพามาบรอม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาพามาบรอม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพามาบรอมสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

พามาบรอมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพามาบรอมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ดังนี้ เช่น ทำให้ปัสสาวะมีสีเหลือง

*กรณีที่พบอาการแพ้ยานี้ อาการที่พบได้เช่น มีผื่นคัน อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้า-ปาก-ลิ้นหรือคอบวม ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้พามาบรอมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้พามาบรอมเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพามาบรอมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

พามาบรอมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพามาบรอมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

การใช้ยาพามาบรอมร่วมกับยาลดความดันโลหิตเช่น Enarapril, Quinapril, Fosinopril, Ramipril หรือยารักษาความดันในหลอดเลือดปอดสูง Fenodopam จะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำติดตามมา กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาพามาบรอมอย่างไร?

สามารถเก็บยาพามาบรอมภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

พามาบรอมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพามาบรอมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Diurex max (ไดยูเร็กซ์ แม็กซ์) ALVA-AMCO Pharmacal com.lnc
MENSODOL (เมนโซดอล) Anthus
Pamaspas (พามาสแปส) Pharmed

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pamabrom [2015,Aug22]
  2. http://www.drugs.com/sfx/pamabrom-side-effects.html [2015,Aug22]
  3. http://www.mims.com/India/drug/info/PAMASPAS/PAMASPAS%20tab [2015,Aug22]
  4. http://www.drugs.com/otc/102238/diurex-max.html [2015,Aug22]
  5. http://www.everydayhealth.com/drugs/diurex-water-capsules [2015,Aug22]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/accupril-with-pamabrom-1980-1277-1784-0.html [2015,Aug22]
  7. http://www.drugs.com/cdi/acetaminophen-and-pamabrom.html [2015,Aug22]