พัฒนาเด็กไทยปฐมวัยให้ “ดียกกำลังสาม” (ตอนที่ 3)

นายแพทย์ไพจิตร วราทิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า จะดูแลหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักอย่างน้อย 2,500 กรัม โดยจะรณรงค์ให้ฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ระหว่างตั้งครรภ์จนถึงคลอด ตัวอย่างเช่น ในระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์มักไม่สั่งยาโดยไม่จำเป็นจริงๆให้สตรีตั้งครรภ์ เพราะอาจมีทั้งผลชั่วคราวและถาวร กรณีเกิดความบกพร่องในพัฒนาการทางกายของทารกในครรภ์

คณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ได้แบ่งประเภทยาออกเป็น A, B, C, D และ X เพื่อเป็นข้อบ่งชี้สรรพคุณทางยาที่เป็นคุณ และความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ คำว่ายารวมถึงวิตามินรวม (Multi-vitamins) ที่มีการวิจัยให้เห็นแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ จึงจัดอยู่ในประเภท A ส่วน Thalidomide ซึ่งมีผลพิสูจน์แล้วว่ามีความเสี่ยงสูงที่ก่อให้เกิดความผิดปรกติในอวัยวะของทารกในครรภ์ ก็จัดอยู่ในประเภท X

ทารกในครรภ์มีโอกาสเสี่ยงจากการรับพิษหลายอย่าง ผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2554 พบว่าหญิอเมริกันที่ตั้งครรภ์ มีสารเคมีในร่างกายหลากหลาย ซึ่งถูกห้ามใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 รวมถึง ยาฆ่าแมลง DDT (= Dichlorodiphenyl-trichlo-roethane) ซึ่งมีอยู่ในร่างกายสตรีมีครรภ์ถึงร้อยละ 99 ของสตรีตั้งครรภ์ และ BPA (= Bisphenol A) ที่พบในผู้หญิงร้อยละ 96 นอกจากนี้ การสัมผัสสารเคมีหลายชนิดก็อาจก่อผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้เช่นกัน

การบริโภคแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดภาวะติดสุราในทารก ทำให้เกิดความผิดปรกติจนถึงขั้นสูญเสียทารกในครรภ์ได้ แม้ผลการศึกษาบางชิ้นแสดงว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยถึงปานกลางระหว่างตั้งครรภ์ อาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับทารก แต่ก็ไม่มีปริมาณที่แน่นอนที่รับประกันว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์

ธาตุปรอท (Mercury) และสารประกอบปรอท (Methyl-mercury) ซึ่งพบในอาหารทะเล อาจก่อความเสี่ยงต่อภาวะตั้งครรภ์ ผ่านระบบประสาทและสมองช่วงเจริญเติบโตของทารก ปลาบางชนิดอาจมีสารนี้มากจนเป็นอันตรายต่อระบบประสาทของตัวอ่อนหรือของทารกในครรภ์ บางกรณีก่อให้เกิดความผิดปรกติในการเรียนรู้ ในสหรัฐอเมริกาได้มีการแนะนำให้สตรีมีครรภ์จำกัดการบริโภคปลาดาบ ปลาฉลาม ปลาคิงแมคเคอเรล และปลาทูน่า (ปลาทะเลน้ำลึกขนาดใหญ่ทุกชนิด) ไม่ให้เกิน 6 ออนซ์ ต่อสัปดาห์

ศูนย์สุขภาพสิ่งแวดล้อมเด็ก (The Center for Children's Environmental Health) รายงานว่า มารดาที่อยู่ในมลภาวะระหว่างตั้งครรภ์ มีผลเสียต่อทารก เช่นน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน คลอดก่อนกำหนด และหัวใจผิดปรกติ มีภาวะเสี่ยงสร้างความเสียหายให้ DNA (= Deoxyribonucleic acid) ที่ส่งผลให้เกิดมะเร็ง และในช่วงอายุ 3 ขวบ ระดับพัฒนาการจะช้า ผลทดสอบสติปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) จะต่ำ และเพิ่มปัญหาความประพฤติช่วงอายุ 6–8 ขวบ

ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา แจ้งว่าการพัฒนาระบบประสาทของทารกในครรภ์มีภาวะเสี่ยงจากสารตะกั่ว ซึ่งทำให้เยื่อบุผนังมดลูกผิดปรกติ การสะสมสารตะกั่วในกระดูกจะปล่อยสารตะกั่วออกมาในเลือดช่วงตั้งครรภ์ แม้มารดามีการสัมผัสหรือรับสารตะกั่วแม้เพียงน้อยนิด ก็อาจสร้างความผิดปรกติในสติปัญญาและพฤติกรรมของเด็กได้

ปี พ.ศ. 2549 มีการศึกษาพบว่าเด็กที่มีบิดามารดาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใช้ยาฆ่าแมลง Chlorpyrifos จะมีปัญหาการพัฒนาจิตใจและการเคลื่อนไหวในช่วง 3 ขวบแรก และเพิ่มความเสี่ยงในการมีปัญหาพฤติกรรม ปี พ.ศ. 2552 มีการศึกษาว่าสตรีมีครรภ์ที่บริโภค Tetrachloroethylene ในน้ำดื่ม จะเพิ่มความเสี่ยงปากแหว่งเพดานโหว่ในบุตร และสารประกอบ phthalates ซึ่งพบในพลาสติกของใช้หลายชนิด รวมถึงของเล่นเด็กและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาจทำให้เด็กมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน

ข้อมูลล่าสุดพบว่าในการตั้งครรภ์ปรกติ โดยทั่วไปมีโอกาสน้อยมากที่การบาดเจ็บของเด็กทารกในครรภ์จะมีสาเหตุเนื่องจากการออกกำลังกายของมารดา อย่างไรก็ตาม สัญญาณอันตรายของมารดาได้แก่ มีเลือดออกจากช่องคลอด (Vaginal bleeding) การหายใจขัด (Dyspnea) ก่อนการออกกำลังกาย อาการวิงเวียน ปวดหัว เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เด็กดิ้นน้อยลง กล่าวโดยสรุป ปรกติแล้วการออกกำลังกายปานกลางเป็นผลดีกับทั้งมารดาและทารก

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ประกาศปฏิญญาร่วมพัฒนาเด็กปฐมวัย http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034171 [2012, March 23].
  2. Early Childhood. http://en.wikipedia.org/wiki/Early_childhood [2012, March 23].
  3. Pregnancy. http://en.wikipedia.org/wiki/Pregnancy [2012, March 23].