พัฒนาเด็กไทยปฐมวัยให้ “ดียกกำลังสาม” (ตอนที่ 1)

วันที่ 16 มีนาคม นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมพิธีประกาศปฏิญญา “การศึกษาไทยไม่ทอดทิ้งใคร สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน”

นพ. ไพจิตร์ กล่าวถึงพันธกิจของกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่วมกับ 8 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงยุติธรรม

กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการสนองนโยบายนายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี (Early childhood) เพื่อให้ “ดียกกำลังสาม” ไม่แพ้เด็กในสากลโลก กล่าวคือ (1) สุขภาพกายใจดี พัฒนาการสมวัย (2) ระดับเชาวน์ปัญญาดี (Intelligence Quotient: IQ) และ (3) ความฉลาดทางอารมณ์ดี (Emotional Quotient: EQ )

เด็กเล็กเป็นวัยที่กำหนดคุณภาพองค์รวมพื้นฐานเกือบทั้งหมดของมนุษย์ มากกว่าวัยใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคม พัฒนาการทางอารมณ์ ความจำ ความสามารถทางภาษา และการเรียนรู้ทางกายภาพ แต่หลายอย่างไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองคนเดียวได้ ต้องมีผู้ใหญ่เป็นกำลังช่วยเหลือที่สำคัญ

ในทางด้านหลักการ ควรเริ่มดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หลังคลอด และการเลี้ยงดูเด็กทารก การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี มีความเข้าใจว่าเด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญเท่านั้น มนุษย์เรียนรู้จากวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบมากที่สุด มากกว่าการเรียนรู้ในวัยใดๆ

การเรียนรู้ที่รวดเร็วฉับไวหลักแหลมที่สุดในชีวิต ความรัก ความเอื้ออาทร ความกล้าหาญ และการกระตุ้นทางอารมณ์จากผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูจึงมีส่วนสำคัญในพัฒนาการของเด็ก สมองของเด็กวัยนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและซึมซับข้อมูลได้ง่ายดาย

เด็กในวัยนี้ หลายๆ ส่วนของสมองสามารถโตได้ถึง 2 เท่าในหนึ่งปี แต่ต้องได้รับสารอาหารสำคัญ (Vital nutrients) แม้ผู้ใหญ่จะมีบทความสำคัญในการช่วยพัฒนาการของเด็กวัยแรกนี้ แต่การปฏิสัมพันธ์ส่วนตัว (Personal interaction) กับเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ก็มีความสำคัญมากในการพัฒนาสมองเด็กให้สมวัย

ประเทศไทยมีหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy) ประมาณ 800,000 คนต่อปี กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงหลังคลอด โดยเฉพาะการเตรียมความรู้ให้พ่อแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนแรก และการมีนโยบายเชิงรุกในการตรวจคัดกรองแก้ไขป้องกันความผิดปกติของเด็กปฐมวัย

การตั้งครรภ์ (Pregnancy) เป็นการสืบพันธุ์ โดยให้กำเนิดตัวอ่อน (Embryo) ในมดมูก ช่วง 8 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ และ เติบโตเป็นทารกในครรภ์ ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 8 จนถึงเวลาคลอด ซึ่งปรกติการตั้งครรภ์ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 38 สัปดาห์ สตรีที่มีรอบประจำเดือนทุก 4 สัปดาห์ จะมีการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์หลังการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Last normal menstrual period: LNMP)

การตั้งครรภ์แบ่งเป็น 3 ไตรมาส โดยไตรมาสแรกเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงสุด ในเรื่องการแท้งโดยธรรมชาติ (Miscarriage) ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่เห็นพัฒนาการและวินิจฉัยเด็กทารกในครรภ์ได้ง่าย และช่วงเริ่มต้นของไตรมาสสุดท้ายมักเป็นจุดชี้ความอยู่รอดของเด็กทารกหลังการคลอด

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ประกาศปฏิญญาร่วมพัฒนาเด็กปฐมวัย http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034171 [2012, March 21].
  2. Early Childhood. http://en.wikipedia.org/wiki/Early_childhood [2012, March 21].
  3. Pregnancy. http://en.wikipedia.org/wiki/Pregnancy [2012, March 21].