พราโซซิน (Prazosin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

พราโซซิน (Prazosin) คือ ยากลุ่ม Sympatholytic drug หรือ Alpha-adrenergic blockers  ทางคลินิกนำมาใช้ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ช่วยรักษาควบคุมการหดตัวของต่อมลูกหมากและมดลูก รวมถึงใช้บำบัดอาการของโรคจิตประสาทอีกด้วย กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้จะเกิดกับตัวรับ(Receptor)ในร่างกายที่มีชื่อว่า Alpha-1 receptors ทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่อยู่ตามผนังหลอดเลือด ต่อมลูกหมาก มดลูก ฯลฯ เกิดอาการคลายตัว

การควบคุมการรับประทานอาหารให้ได้สัดส่วนก็ช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาพราโซซินดีขึ้นเช่น งดอาหารเค็มและไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

จากข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การกระจายตัวของยาเมื่อเข้าสู่กระแสเลือด) ของยาพราโซซินพบว่า ยานี้สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่ร่าง กายได้ถึง 60% ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 97% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย

ความเสี่ยงบางประการที่สามารถเกิดกับผู้ที่ใช้ยาพราโซซินคือ อาการเป็นลม (Syncope) ในทางคลินิกเชื่อกันว่า มีเหตุมาจากภาวะความดันโลหิตต่ำเกินไปหลังกินยานี้ และมักจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วยโดยอาจวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ถึง 120 - 160 ครั้ง/นาที ภาวะดังกล่าวนี้เกิดกับจำนวนผู้ป่วยได้ประมาณ 1% หลังจากได้รับยาพราโซซินตั้งแต่ 2 มิลลิกรัมขึ้นไป ดังนั้นทางคลินิกจึงมีข้อแนะนำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ครั้งแรกควรเฝ้าระวังอาการเป็นลมวูบ ซึ่งแพทย์จะสั่งจ่ายยานี้กับผู้ป่วยขนาด 1 มิลลิกรัมก่อน จากนั้นจึงค่อยปรับขนาดเพิ่มตามการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) อื่นที่พบได้ในช่วงเริ่มต้นของการใช้ยาพราโซซินคือ วิงเวียน มักจะมีอาการขณะที่ลุกจากที่นอนหรือเปลี่ยนจากท่านั่งมาเป็นท่ายืน แนะนำให้ผู้ป่วยกระทำ/เปลี่ยนท่าทางดังกล่าวอย่างช้าๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับยาพราโซซินไม่ควรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพราะจะสนับสนุนภาวะความดันโลหิตต่ำและเกิดอาการวิงเวียนมากขึ้นตาม มา

ยาพราโซซินยังมีข้อห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ด้วยไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่เพียงพอมาสนับ สนุนการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ หากจำเป็นต้องใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ต้องให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ป่วยมากที่สุด และยาพราโซซินสามารถ ถูกขับออกมากับน้ำนมของมารดาและเข้าถึงทารกที่ดื่มนมมารดาได้

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยาพราโซซินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผู้บริโภคจะพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน อีกทั้งสามารถซื้อหาได้จากร้านขายยาขนาดกลางขึ้นไป

 อนึ่งในต่างประเทศยาชื่อการค้าของยาพราโซซิน เช่นยา Vasoflex, Lentopres, Hypovase,

พราโซซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

พราโซซิน

ยาพราโซซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เพื่อ       

  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาภาวะต่อมลูกหมากโต  

พราโซซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาพราโซซินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของตัวรับที่มีชื่อว่า Alpha1-adrenergic receptor ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของ ผนังหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง และต่อมลูกหมาก เกิดการคลายตัว และส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ    

พราโซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพราโซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด      

พราโซซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

 ขนาดรับประทานของการรักษาโรคตามสรรพคุณของยาพราโซซินให้ใช้ขนาดรับประทานเดียวกันในทุกอาการโรค เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 มิลลิกรัมวันละ 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับของการรักษาอยู่ที่ 6 - 15 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ทางคลินิกยังมิได้มีการศึกษาข้อมูลขนาดยาที่ใช้กับผู้ป่วยเด็ก

 *อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้     

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ        

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพราโซซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพราโซซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยาพราโซซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิภาพของการรักษาควรรับประทานยาพราโซซินให้ตรงเวลา

พราโซซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพราโซซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงไม่ประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
  • ง่วงนอน
  • ปวดหัว
  • อ่อนเพลีย
  • ขาและเท้าบวม
  • บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก
  • อาจอึดอัด/หายใจลำบาก
  • ปากคอแห้ง
  • กระสับกระส่าย
  • คลื่นไส้

ทั้งนี้อาการข้างเคียงหลายอาการไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา ร่างกายของผู้ป่วยจะค่อยๆปรับตัวจนคุ้นเคยกับอาการข้างเคียงดังกล่าว *แต่หากอาการดังกล่าวรุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด หรือไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

มีข้อควรระวังการใช้พราโซซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพราโซซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาพราโซซิน
  • ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง  
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานเดิม
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • การใช้ยาครั้งแรกของผู้ป่วยให้เฝ้าระวังอาการเป็นลม/วูบ
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดใช้ยานี้แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีที่ใช้ยานี้ไปสักระยะแล้วอาการแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • พาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพราโซซินด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

พราโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพราโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาพราโซซิน ร่วมกับยา Tizanidine อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมาโดยผู้ ป่วยอาจพบอาการ วิงเวียน เป็นลม อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ เพื่อป้องกันอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาพราโซซิน ร่วมกับยา Sodium oxybate สามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วน กลางเช่น มีอาการง่วงนอน วิงเวียน รู้สึกสับสน ซึมเศร้า ความดันโลหิตต่ำ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาพราโซซิน ร่วมกับยา Ibuprofen อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา พราโซซินด้อยลงไปโดยทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประ ทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาพราโซซิน ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตของ    พราโซซินด้อยลง การใช้ Hydrocortisone เป็นเวลานานอาจเป็นผลให้ร่างกายเพิ่มการสะสมของเกลือโซเดียมและน้ำในร่างกายจนส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาพราโซซินอย่างไร?

ควรเก็บยาพราโซซิน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

พราโซซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพราโซซิน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Atodel (อะโทเดล) Remedica
Hyposin 2 (ไฮโปซิน 2) VS Pharma
Lopress (โลเพรส) Siam Bheasach
Mima (มีมา) New Life Pharma
Minipress (มินิเพรส) Pfizer
Polypress (โพลีเพรส) Central Poly Trading
Prazosin T.O. (พราโซซิน ที.โอ.) T. O. Chemicals
Pressin (เพรสซิน) Utopian

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Prazosin   [2022,May7]
  2. https://www.drugs.com/mtm/prazosin.html  [2022,May7]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/prazosin%20t-o-   [2022,May7]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/prazosin?mtype=generic  [2022,May7]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/prazosin/patientmedicine/prazosin%2B-%2Boral  [2022,May7]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=prazosin  [2022,May7]