พราซูเกรล (Prasugrel)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพราซูเกรล(Prasugrel) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดให้เป็นลิ่มเลือด /ยาต้านเกล็ดเลือด ทางคลินิกนำมาใช้ป้องกันการเกิดหลอดเลือดอุดตัน ยานี้ถูกพัฒนาโดยบริษัทยาของประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Daiichi Sankyo ยาพราซูเกรลถูกนำไปใช้ในยุโรปและอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ยานี้ดูดซึมได้รวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 98% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7.4 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ทางคลินิก อาจใช้ยาพราซูเกรลร่วมกับยาแอสไพรินขนาดต่ำๆเพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดอุดตันกับผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลว ทางคลินิกยังพบว่ายาพราซูเกรลจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่ายา Clopidogrel แต่ก็สามารถทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายได้มากกว่ายา Clopidogrel เช่นกัน

มีข้อห้ามและข้อจำกัดของการใช้ยาพราซูเกรลที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่มีภาวะเลือดออกตามร่างกาย ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลในลำไส้ ผู้ที่มีภาวะเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ หรือผู้ที่มีเส้นเลือด/หลอดเลือดในสมองแตก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) ผู้ที่มีภาวะโรคตับขั้นรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่กำลังจะผ่าตัดเส้นเลือดบายพาส(Bypass)หัวใจ
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ด้วยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อการใช้ยาหลายชนิดซึ่งรวมยาพราซูเกรลด้วย

ขณะที่ได้รับยาพราซูเกรล ผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง ด้วยจะทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของหัวใจจนเป็นเหตุให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

การใช้ยาพราซูเกรล อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบได้บ่อย เช่น ปวดหลัง มีอาการไอ ท้องเสีย ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ เป็นต้น

หลังจากหยุดใช้ยาพราซูเกรลตามคำสั่งแพทย์ ระบบการทำงานของเกล็ดเลือดจะกลับมาเป็นปกติภายในประมาณ 5–9 วัน

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาพราซูเกรลอยู่ในประเภท ยาอันตราย ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว ซึ่งผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาชนิดนี้ได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

พราซูเกรลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

พราซูเกรล

ยาพราซูเกรลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาและป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเนื่องจากมีภาวอุดตันของหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณหัวใจ

พราซูเกรลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาพราซูเกรลที่ถูดดูดซึมเข้าสู่ร่างกายยังมิใช่สารออกฤทธิ์ (Prodrug) โดยตัวยาจะต้องผ่านกระบวนการเมตาบอไลท์/กระบวนการเปลี่ยนแปลงยา(Metabolite) จนเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้ไปเป็นสารที่ออกฤทธิ์ (Active metabolite) ซึ่งจะเข้าไปจับกับตัวรับ(Receptor)บนเกล็ดเลือด ที่มีชื่อว่า “ADP receptors หรือ Adenosine diphosphate receptor” และส่งผลยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดได้ตามสรรพคุณ

พราซูเกรลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพราซูเกรลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Prasugrel ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด

พราซูเกรลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาพราซูเกรลสำหรับรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome) เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งแรก 60 มิลลิกรัม จากนั้น แพทย์จะให้ลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • ผู้มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งแรก 60 มิลลิกรัม จากนั้นแพทย์จะให้ลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • การใช้ยานี้อาจใช้เวลานานได้ถึง 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาพราซูเกรล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาพราซูเกรล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพราซูเกรล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

พราซูเกรลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพราซูเกรลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดออกง่าย มีภาวะโลหิตจาง ปริมาณฮีโมโกลบินลดลง มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เลือดออกที่เหงือก คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีการบวมในผิวหนังชั้นหนังแท้ เกิดผื่นคัน มีเลือดออกในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง/ห้อเลือด
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: คอเลสเตอรอลในเลือดสูง มือ-เท้าบวม
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง เจ็บที่กล้ามเนื้อหน้าอก
  • ผลต่อตา: เช่น เลือดออกในตา
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ

มีข้อควรระวังการใช้พราซูเกรลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพราซูเกรล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหารที่อยู่ในระยะมีเลือดออก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะสูญเสียเลือดซึ่งเกิดจากบาดแผลหรือจากการผ่าตัด
  • หยุดการใช้ยานี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ระหว่างใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บตามมาเพราะจะเกิดเลือดออกได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพราซูเกรลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

พราซูเกรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพราซูเกรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพราซูเกรลร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin, ยากลุ่ม NSAIDs, ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายตามมา
  • การใช้ยาพราซูเกรลร่วมกับ Vitamin E สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาพราซูเกรลได้มากขึ้น หากต้องใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน ผู้ป่วยควรต้องเพิ่มความระมัดระวัง หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาพราซูเกรลร่วมกับยา Fluoxetine อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยที่สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคตับ โรคไต เพื่อเป็นการป้องกัน ภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาพราซูเกรลอย่างไร?

ควรเก็บยาพราซูเกรลในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

พราซูเกรลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพราซูเกรลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Effient (เอฟเฟนท์)Daiichi Sankyo

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Aplet, Deklot, Prasact, Prasulet, Prasurel, Prasusafe, Prasuvas, Efient

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Prasugrel [2017,Feb11]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/effient/?type=brief [2017,Feb11]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/prasugrel/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb11]
  4. https://www.drugs.com/cdi/prasugrel.html [2017,Feb11]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/prasugrel-index.html?filter=3&generic_only=#Wh [2017,Feb11]