ฝ่าความเงียบด้วยประสาทหูเทียม (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ฝ่าความเงียบด้วยประสาทหูเทียม

ข้อด้อย

  • เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บทำให้การรับรู้รสเปลี่ยนไป
  • เส้นประสาทถูกทำลายทำให้กล้ามเนื้อที่หน้าอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตที่หน้า
  • เวียนศีรษะหรือมีปัญหาเรื่องการทรงตัว
  • สูญเสียการได้ยิน
  • มีเสียงในหู (Tinnitus)
  • มีการรั่วของของเหลวบริเวณสมอง
  • เครื่องไม่ทำงานหรือเกิดการติดเชื้อ ทำให้ต้องมีการผ่าตัดใหม่
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) มีการติดเชื้อของเยื่อบุผิว (Membranes) บริเวณสมอง (แต่พบได้ยาก) ซึ่งกรณีนี้ FDA ได้แนะนำให้ผู้ที่ผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียมให้ทำการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงของโรคนี้

ส่วนข้อที่ควรระวังหลังการผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียม ก็คือ

  • กรณีที่ผู้ผ่าตัดเคยได้ยินเสียงเล็กน้อยมาก่อนการผ่าตัด หลังการผ่าตัดเสียงที่ได้ยินอาจไม่เป็นธรรมชาติเหมือนที่เคยได้ยิน
  • กรณีที่ต้องรับการตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) อาจมีปัญหาเรื่องแม่เหล็กของประสาทหูเทียม
  • อุปกรณ์อาจเสียหายเพราะโดนน้ำ

ผู้ใหญ่ที่เหมาะสมกับการผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียม ได้แก่

  • ผู้ที่สูญเสียการได้ยินทั้ง 2 ข้าง
  • ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ค่อยได้ผล
  • ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • มีความเข้าใจในเรื่องการผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียม

ส่วนเด็กนั้น สามารถทำการผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียมได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี และควรทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพราะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของเด็กที่อยู่ระหว่างการเรียนรู้ภาษาและคำพูด โดยเด็กที่เหมาะกับการผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียม ได้แก่

  • เด็กที่สูญเสียการได้ยินทั้ง 2 ข้าง
  • ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ค่อยได้ผล
  • มีสุขภาพดีที่การผ่าตัดไม่ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
  • อายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เด็กที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมก่อนอายุ 18 เดือน จะมีพัฒนาการเรื่องการเรียนรู้ การพูดและภาษาที่ดีกว่า อย่างไรก็ดี อุปกรณ์นี้ก็สามารถช่วยเด็กที่สูญเสียการได้ยินหลังจากที่เด็กรู้จักพูดได้แล้วเช่นกันM
  • ต้องเข่าร่วมโปรแกรมสอนการพูดอย่างเคร่งครัดหลังการผ่าตัด

อนึ่ง เนื่องจากการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีค่าใช้จ่ายที่สูงท่านสามารถบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมตามโครงการดังกล่าวได้ที่มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โทร.0-2241-5169 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่มีปัญหาทางการได้ยินให้ได้ใช้ชีวิตที่เป็นปกติและไม่เป็นภาระของสังคมต่อไป

แหล่งข้อมูล

1. Cochlear implant. https://www.nidcd.nih.gov/health/cochlear-implants [2016, June 18].

2. Understanding Cochlear Implants. http://www.webmd.com/healthy-aging/understanding-cochlear-implants [2016, June 18].