ผ่าตัดวันเดียวกลับ (ตอนที่ 2)

ผ่าตัดวันเดียวกลับ-2

การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery / Outpatient surgery / Ambulatory surgery / Same-day surgery / Day case / Day surgery) เป็นการผ่าตัดที่ไม่ต้องเป็นผู้ป่วยในและอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักค้างคืน สามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้

  • ช่วยลดปริมาณผู้ป่วยใน ลดจำนวนยาที่ต้องสั่ง และใช้เวลาของแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการผ่านตัดมักจะทำที่ห้องแพทย์ (Surgeon's office) มากกว่าการทำในห้องผ่าตัด (Operating room)
  • เหมาะกับผู้มีสุขภาพดีที่ต้องการกระบวนการผ่าตัดเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง เช่น ระบบปัสสาวะ (Urologic) โรคทางตา หู คอ จมูก และแขนขา (Extremities)
  • ปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 55 ของการผ่าตัดทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา จะเป็นการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ

โดยการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับได้รับการพัฒนามานานกว่า 30 ปี ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่รวมถึง

  • เครื่องมือผ่าตัดที่ได้รับการพัฒนามากขึ้น
  • เทคนิคการผ่าตัดจะเป็นแบบรุกล้ำน้อยลง (Less invasive surgical techniques)
  • มีทีมแพทย์ที่ช่วยดูแลให้ความเจ็บปวดน้อยลงด้วยการวางยาระงับความรู้สึก (Anesthesia medications)
  • การฟื้นฟูตัวที่บ้านอาจทำให้หายได้เร็วกว่าการอยู่โรงพยาบาล
  • ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา
  • ลดความเครียดจากการที่ต้องอยู่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในเด็กที่กลัวการอยู่ห่างบ้าน

ในปัจจุบัน มีหลายอาการที่สามารถผ่าตัดแบบวันเดียวกลับได้ เช่น การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomies) การผ่าตัดไส้เลื่อน (Hernia repairs) การผ่าตัดถุงน้ำดี (Gallbladder removals) ศัลยกรรมเสริมสวย (Cosmetic surgeries) และ การผ่าตัดต้อกระจก (Cataract surgeries) โดย

ก่อนการผ่าตัด (Before the surgery)

  • ศัลยแพทย์หรือแพทย์ผู้ผ่าตัดจะประเมินผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดว่าสามารถทำการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับได้หรือไม่
  • วิสัญญีแพทย์หรือแพทย์ผู้ชำนาญการวางยาสลบ (Anesthesiologist) จะพูดคุยกับผู้ป่วยถึงแผนการวางยาสลบ โดยเฉพาะผู้ที่ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหอบหืด หรือ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD) ซึ่งควรทำการพบแพทย์ก่อนวันผ่าตัดจริง
  • แพทย์อาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่หรือให้ทำการหยุดยาบางชนิดก่อนการผ่าตัด เช่น ยา Aspirin หรือ ยาละลายลิ่มเลือด (Blood thinners) ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจทำให้ไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัดและต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Outpatient Surgery. https://www.emedicinehealth.com/outpatient_surgery/article_em.htm [2018, January 11].
  2. Outpatient Surgery. https://www.hopkinsmedicine.org/healthlibrary/conditions/surgical_care/outpatient_surgery_85,P01404 [2018, January 11].
  3. Outpatient surgery. https://en.wikipedia.org/wiki/Outpatient_surgery [2018, January 11].