ผู้ป่วยเรื้อรัง ขังอยู่ในน้ำท่วม

นพ. ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่า “ขณะนี้มีทีมแพทย์แต่มีเรือเพื่อเข้าพื้นที่ได้ไม่เพียงพอ โดยได้ร้องขอเพิ่มเติมจากจังหวัดที่เคยประสบภัยให้จัดเรือสนับสนุนเพิ่มเติม สำหรับบ้านใดที่มีผู้ป่วยเรื้อรังติดอยู่ในบ้าน ขอให้ใช้ผ้าสีเขียวแขวนไว้ที่หน้าต่างบ้านให้เห็นชัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีผู้ป่วยเรื้อรังอยู่ในบ้าน ทีมแพทย์จะได้เข้าไปให้การดูแลประเมินสุขภาพทันที ส่วนเรื่องสุขาภิบาล ขณะนี้ยังไม่พบพื้นที่ใดมีโรคระบาด แต่มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง”

โรคเรื้อรัง (Chronic disease) เป็นสภาวะของสุขภาพที่อยู่ยาวนานมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป อาทิ โรคหืด โรคหลอดลม โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคตับอักเสบ โรคกระดูกและข้อ โรคไตล้มเหลว โรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคภูมิต้านทานตนเอง โรคปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ รวมทั้งภาวะต่างๆ อาทิ กระดูกพรุน ถุงลมโป่งพอง โลหิตจาง สิว ตาบอด หูหนวก ปวดประจำ และเมื่อยล้าประจำ

คำตรงข้ามกับคำว่า “เรื้อรัง” คือ “เฉียบพลัน” (Acute) และแตกต่างจากคำว่า “กลับซ้ำ” (Recurrent) และ “เกิดโรคกลับ” (Relapse) ซึ่งต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลหลายครั้ง แม้จะเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ (Non-communicable disease) ซึ่งเป็นสภาวะของสุขภาพที่ยาวนานเช่นกัน แต่โรคเรื้อรังบางชนิด (อาทิ HIV/AIDS) ก็เกิดจากการติดเชื้อที่ติดต่อได้ (Transmissible infection)

โรคเรื้อรังหลายชนิดต้องการการดูแลรักษาที่ยาวนาน การควบคุมโรคเรื้อรังที่ได้ผลต้องอาศัยความสนใจต่อผู้ป่วยในด้านสังคม พฤติกรรม สิ่งแวดล้อม และการแพทย์ ผู้สูงอายุอาจเป็นโรคเรื้อรังหลายโรคในเวลาเดียวกัน องค์การอนามัยโรค รายงานว่า โรคหรือภาวะเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เป็นสาเหตุหลักของการตายทั่วโลก ประมาณ 35 ล้านคนในปี พ.ศ. 2548 และคิดเป็น 60% ของการตายทั้งหมด

ในสหรัฐอเมริกา เกือบทุกๆ หนึ่งในสองคน (133 ล้านคน) จะป่วยเป็นโรคหรือภาวะเรื้อรังชนิดใดชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ (58%) มีอายุระหว่าง 18 และ 64 ปี คาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% ต่อปี จนในปี พ.ศ. 2573 จะมีผู้ป่วยดังกล่าวถึง 171 ล้านคน

โรคหรือภาวะเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ข้ออักเสบ โรคทางเดินหายใจ และระดับคลอเล็สเตอรอลสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของการตาย 70% ในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรค หรือภาวะเรื้อรังนั้น สามารถใช้ชีวิตได้ตามปรกติ ประมาณ 90% ของผู้สูงอายุจะเป็นโรคหรือภาวะเรื้อรังชนิดใดชนิดหนึ่ง และ 77% มีโรคหรือภาวะเรื้อรัง 2 ชนิดหรือมากกว่า

ประเทศไทยไม่ได้เก็บสถิติอย่างละเอียดลออ เหมือนสหรัฐอเมริกา แต่จากการสังเกตชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ “ความเครียด” (Stress) ของผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งหัวเมืองต่างจังหวัด และพฤติกรรมบริโภคอาหาร โดยเฉพาะ “อาหารขยะ” (Junk food) เราคงสามารถพยากรณ์แนวโน้มของโรค หรือภาวะเรื้อรังในหมู่คนไทยได้ว่า ไม่แตกต่างไปจากคนอเมริกันเท่าใดนัก

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ให้บ้านมีคนป่วยเรื้อรังติด "ธงเขียว" ที่หน้าต่าง http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNeU1EQTFNVFV5TlE9PQ==§ionid= [2011, November 1].
  2. Chronic (medicine). http://en.wikipedia.org/wiki/Chronic_%28medicine%29 [2011, November 1].