ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ (Fixed Drug Eruption)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ(Fixed drug eruption)  คือ ผื่นแบบหนึ่งที่เกิดจากการแพ้ยา มีลักษณะเฉพาะคือ ‘ผื่นจะขึ้นในตำแหน่งเดิมเมื่อมีการได้รับยาชนิดนั้นๆอีก’ ซึ่งผื่นแพ้ยาชนิดนี้พบได้บ่อยประมาณ 20% ของผื่นที่เกิดจากการแพ้ยาทั้งหมด พบผื่นนี้ได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชายโดยจะพบในเพศหญิงได้มากกว่าเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบผื่นแพ้ยาชนิดนี้ได้ในเกือบทุกช่วงอายุ

 การแพ้ยา  เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เนื่องจากการรักษาโรคต่างๆจำเป็นต้องอาศัยยาเป็นส่วนประกอบการรักษาที่สำคัญ การแพ้ยานั้นมีความหลากหลายในอาการแสดงตั้งแต่มีผื่นขึ้นตามผิวหนังจนไปถึงเกิดอาการตีบตันของทางเดินหายใจจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

 อาการแสดงทางผิวหนังของการแพ้ยาก็มีความหลากหลายเช่นกัน เป็นได้ตั้งแต่ผื่น ลมพิษ ผื่นแดงกระจายทั่วๆตัว ตุ่มน้ำ หรือเกิดการที่ผิวหนังลอกและเกิดการตายของผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง การจะวินิจฉัยผื่นแพ้ยาจึงต้องอาศัยข้อมูลหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประวัติการใช้ยา ลำดับเวลาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องของผื่นและการได้รับยา อัตราความชุกของการเกิดการแพ้ในยาชนิดต่างๆของผู้ป่วย ลักษณะผื่น อาการร่วมอื่นๆ บางครั้งอาจจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆเพิ่มเติม

 การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยรายนั้นๆมีการแพ้ยาหรือไม่ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในอนาคตผู้ป่วยจะได้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงยาที่แพ้ได้

อนึ่ง: ผื่นแพ้ยาชนิด “Fixed drug eruption” ไม่ได้มีชื่อภาษาไทยโดยตรง แต่ถ้าแปลตามศัพท์ภาษาอังกฤษจะได้ความหมายว่า “ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ”

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ?

ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ คือ การได้รับยาที่แพ้ ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำเป็นปฏิกิริยาการแพ้ยาแบบหนึ่ง แต่สาเหตุที่ผื่นขึ้นบริเวณเดิมซ้ำๆเมื่อใช้ยานั้นซ้ำอีกยังไม่ทราบแน่ชัด

 ยาที่มักพบทำให้เกิดผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ เช่น ยากลุ่มยาแก้ปวด, ยานอนหลับ, ยากันชัก,  ยาปฏิชีวนะ, โดยยาที่พบทำให้เกิดผื่นแพ้ยาชนิดนี้มากที่สุดคือ ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา   

ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำติดต่ออย่างไร?

 ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อทางใดรวมถึงการสัมผัส คลุกคลีหรือการใช้ของร่วมกัน

ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำมีอาการอย่างไร?

 ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำจะมีอาการ/ลักษณะกลมๆรีๆ ขอบผื่นชัดเจนโดยทั่วไปขนาดประมาณ 0.5 - 5 เซนติเมตร (ซม.) ช่วงแรกจะมีสีแดงๆบวมๆ บางทีอาจเป็นตุ่มน้ำนำมาก่อน หรือบางครั้งอาจมีเนื้อตายอยู่ตรงกลางวงผื่น เมื่อผื่นเริ่มหายจะค่อยๆเปลี่ยนสีเป็นม่วงๆน้ำตาลคล้ำๆ และจะค่อยๆจางไปเมื่อไม่ได้สัมผัสยานั้นอีก อาจมีอาการคัน แสบร้อน หรือเจ็บบริเวณผื่นได้

อาการร่วมต่างๆที่อาจพบได้เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดเกร็ง/ปวดบีบช่องท้อง โดยอาการเหล่านี้อาจพบได้แต่ไม่บ่อย

หลังจากได้รับยาที่แพ้ ผื่นจะขึ้นในเวลาประมาณ 30 นาทีถึง 16 ชั่วโมง โดยการได้รับยาครั้งแรกอาจใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์กว่าผื่นจะขึ้น ผื่นที่เกิดจากการแพ้ยาฯครั้งแรกมักเป็นผื่นเดียวเดี่ยวๆหรือมีไม่กี่อัน แต่ในการใช้ยาครั้งต่อๆไปนอกจากผื่นจะขึ้นที่ตำแหน่งเดิมๆแล้ว ผื่นอาจจะขึ้นในที่ใหม่ด้วยโดยจะเพิ่มความเข้ม สี ขนาด และจำนวนผื่น

 ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำสามารถพบได้ที่ผิวหนังทุกบริเวณของร่างกาย แต่ที่พบบ่อย ได้แก่ อวัยวะสืบพันธุ์ รอบทวารหนัก มือ เท้า รอบปาก นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในเนื้อเยื่อบุช่องปาก

แพทย์วินิจฉัยผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำได้อย่างไร?

 การวินิจฉัยผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ แพทย์วินิจฉัยได้โดย

  • อาศัยประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • ความสัมพันธ์ของการได้รับยากับการขึ้นของผื่น
  • และลักษณะของผื่นเป็นหลัก
  • แต่ในบางครั้ง แพทย์อาจ
    • ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    • รวมถึงการตัดชิ้นเนื้อตรงรอยโรคเพื่อการตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาหากมีความสงสัยหรือต้องการวินิจฉัยแยกโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ เช่น โรคผื่นในโรคลูปัส-โรค เอสแอลอี ชนิดดิสคอยด์ (Discoid Lupus Erythematosus), โรคสะเก็ดเงิน,   และผื่นผิวหนังอีกหลายชนิดที่อาจมีรอยโรคคล้ายกันได้

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีผื่นขึ้นและผื่นไม่ดีขึ้นหรือผื่นแย่ลงหลังการดูแลตนเองใน 1 - 2 วัน หรือผื่นขึ้นรุน แรงตั้งแต่แรก ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลไม่ควรทิ้งไว้จนผื่นลุกลาม

รักษาและป้องกันผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำได้อย่างไร?

 การรักษาหลักในผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำคือ                                                                           

  • การรักษาเพื่อที่จะทำให้ผื่นหายโดยการหยุดยาที่เป็นต้นเหตุ              
  • นอกจากนั้นจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น
    • การให้ยาสเตียรอยด์ทาบริเวณผื่น ร่วมกับให้ยาแก้แพ้ (Antihistamine drug)
    • ในกรณีที่มีตุ่มน้ำ ไม่ควรเจาะทำลายตุ่มน้ำเพราะจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • แต่หากตุ่มน้ำมีการแตกทำลายแล้วหรือมีแผลเนื้อตาย ให้ดูแลรักษาแผลให้สะอาด ทาแผลด้วยยาปฏิชีวนะชนิดทาแผล
    • หากมีการติดเชื้อที่แผล แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานร่วมด้วย

ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำมีการพยากรณ์โรคที่ดี มักหายเมื่อหยุดยาที่เป็นสาเหตุ แต่เมื่อผื่นหายมักพบรอยดำเหลือได้บ่อย โดยทั่วไปรอยดำอาศัยเวลานานประมาณ 6 - 12 เดือนกว่าที่จะจางหายไป การดูแลรักษารอยดำสามารถทำได้โดยการทาครีมกันแดดร่วมกับทายากลุ่มลดรอยดำเช่น ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone), กรดเรติโนอิก (Retinoic acid), กรดอะเซเลอิค (Azeleic acid)  ทั้งนี้ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง รอยดำหลังผิวหนังอักเสบ ได้ในเว็บ haamor.com

ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

 ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้หากผื่นมีอาการแย่ลงหรือมีอาการร่วมอื่นๆที่รุนแรงเช่น มีไข้สูง ควรกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะในบางครั้งการแพ้ยาแบบที่รุนแรงกว่านี้อาจมีรอยโรคเริ่มต้นที่มีลักษณะคล้ายผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

 เมื่อเป็นผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ การดูแลตัวเองคือ

  • หยุดยาที่แพ้และควรทราบว่ายาที่แพ้ชื่อว่าอะไร และมียากลุ่มไหนบ้างที่อาจจะเกิด ปฏิกริยาการแพ้ข้ามกลุ่ม/Cross reaction (เช่น ผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Penicillin ก็อาจแพ้ยาปฏิชีวนะอื่นๆในกลุ่มยา Beta lactam ได้) เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงยาที่มีโอกาสแพ้ได้ถูกต้อง
  • รักษาความสะอาดบริเวณผื่น กรณีไม่มีแผลสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ ใช้สบู่ที่ระคายเคืองน้อยต่อผิว (เช่น สบู่เด็กอ่อน) รีบซับผื่นให้แห้งด้วยผ้าเช็ดตัวที่นุ่มสะอาด แต่หากกรณีมีแผลควรสอบถามแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับวิธีดูแลแผล จะได้การดูแลแผลที่เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • ห้ามแกะเกาบริเวณรอยโรคเพราะจะทำให้รอยโรคแย่ลงและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ แบคทีเรีย
  • หากผื่นมีอาการแย่ลงเช่น ลุกลาม เจ็บปวดบริเวณแผล/ผื่นมากขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

ป้องกันผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำได้อย่างไร?

การป้องกันผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำคือ ผู้ป่วยควรทราบว่ายาที่แพ้ชื่อว่าอะไร และมียา กลุ่มไหนบ้างที่อาจจะเกิดปฏิกิริยาการแพ้ข้ามกลุ่ม (Cross reaction) เพื่อที่จะสามารถหลีก เลี่ยงยาที่มีโอกาสแพ้ได้ถูกต้อง, และควรแจ้งให้แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรทราบทุกครั้งเมื่อมีการรักษาพยาบาลและ/หรือการสั่งยา

บรรณานุกรม

  1. ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
  2. Burns, T., & Rook, A. (2010). Rook's textbook of dermatology (8th ed.). Chichester, West Sussex, UK ; Hoboken, NJ: Wiley-Blackwell.
  3. Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill.
  4. https://dermnetnz.org/topics/fixed-drug-eruption/   [2021,Dec25]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/1336702-overview  [2021,Dec25]