ผื่นระคายสัมผัส หรือ ผื่นแพ้จากระคายเคือง (Irritant contact dermatitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

ผื่นระคายสัมผัส หรือ ผื่นแพ้จากระคายเคือง (Irritant contact dermatitis) คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากผิวหนังแพ้ระคายเคืองต่อการสัมผัสกับสารก่อการระคายเคืองต่างๆ(Irritant) ที่โดยทั่วไปมักเป็นสารเคมี ผื่นสาเหตุนี้เป็นโรคพบได้บ่อย เกิดจากผิวหนังอักเสบจากสัมผัสสารก่อการระคายเคือง/สารเคมีโดยเฉพาะสารทำความสะอาดเช่น สบู่ (โดยเฉพาะชนิดที่ผสมน้ำหอม) น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดพื้น/สุขภัณฑ์ต่างๆ ที่มีฤทธิ์ในการชะล้างไขมันออกจากผิวทำให้ผิวเกิดการอักเสบระคายเคือง

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการศึกษาอัตราการเกิดโรคนี้ต่อจำนวนประชากรชัดเจน เนื่องจากมีความแตกต่างกันในช่วงอายุ ลักษณะการทำกิจกรรม การประกอบอาชีพ ตัวอย่างเช่น บุคลากรทางการ แพทย์ที่ทำงานในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU, Intensive care unit) ที่ต้องมีการล้างมือบ่อยๆ พบว่า 50 % ของบุคลากรกลุ่มนี้มีปัญหามือเกิดผื่นระคายสัมผัส/ผื่นแพ้จากการระคายเคือง 

ผื่นระคายสัมผัสเกิดได้อย่างไร? อย่างไร?

ผื่นระคายสัมผัส

ผื่นระคายสัมผัส/ผื่นแพ้จากระคายเคือง  เกิดจากผิวหนังอักเสบ เมื่อผิวหนังสัมผัสซ้ำๆกับสารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ที่พบได้บ่อยคือ สารที่มีฤทธิ์ในการชะล้างไขมันออกจากผิวหนังเช่น สารทำความสะอาดต่างๆ สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้จากการสัมผัสสารที่มีฤทธิ์เป็น กรด ด่าง หรือจากการล้างมือบ่อยๆด้วย สบู่ เจลทำความสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ 

ผื่นระคายสัมผัสติดต่ออย่างไร?

ผื่นระคายสัมผัส/ผื่นแพ้จากระคายเคืองมิใช่โรคติดต่อ ไม่มีการติดต่อถึงแม้จะสัมผัสกับผื่นของผู้ป่วย หรือคลุกคลี ใช้เสื้อผ้า หรือของใช้ร่วมกัน หรือแม้แต่ใช้สิ่ง/สารที่ก่อให้เกิดผื่นฯร่วม กัน เช่น ใช้สบู่ร่วมกัน เป็นต้น

ผื่นระคายสัมผัสมีอาการอย่างไร?

ผื่นระคายสัมผัส/ผื่นแพ้จากระคายเคือง พบบ่อยที่สุดที่บริเวณมือ เนื่องจากมือเป็นผิวหนังส่วนที่มีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีต่างๆมากในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำงานบ้าน การทำงานอดิเรก ที่มีการสัมผัสสารเคมี อาการจากผื่นระคายสัมผัสที่พบบ่อยจะเป็นการอักเสบของผิว หนังที่ทำให้มี ผิวแห้ง บวม แดง ผิวลอก และมีอาการคัน 

 ผิวหนังบริเวณอื่นของร่างกายที่สัมผัสกับสารเคมี/สารก่อการระคายเคืองก็สามารถเกิดผื่นระคายสัมผัสได้เช่นกันเช่น ผืนบริเวณต้นขาที่เกิดจากขณะล้างห้องน้ำแล้วน้ำยาล้างห้องน้ำกระเด็น ใส่ ก็เกิดเป็นผื่นแดง บวม คัน ระคายเคืองได้ เป็นต้น 

แพทย์วินิจฉัยผื่นระคายสัมผัสได้อย่างไร?

 โรคผื่นระคายสัมผัส/โรคผื่นแพ้จากระคายเคืองนี้ การวินิจฉัยทำได้จาก

  • แพทย์สอบถาม ประวัติอาการ ประวัติสัมผัสสารเคมีหรือสารก่อการระคายเคืองต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจรอยโรคที่ผิวหนังโดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมโยงกับประวัติการสัมผัสสารเคมี
  • ร่วมกับการตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ว่ามิได้เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
    • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด  เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือ
    • โรคภูมิแพ้   

*ทั้งนี้ยังไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะเพื่อการวินิจฉัยโรคนี้

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากมีผื่นคัน ระคายเคือง บวม แดง ที่สงสัยเกิดจากการระคายเคืองจากการสัมผัสสารเคมี สามารถพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยได้เสมอ

รักษาผื่นระคายสัมผัสอย่างไร?

การรักษาผื่นระคายสัมผัส/ผื่นแพ้จากระคายเคือง คือ

  • การเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่เป็นสาเหตุ
  • หมั่นทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นผิวชนิดอ่อนโยนต่อผิว (Hypoallergenic lotion) เพื่อลดการระคายเคืองของผิว
  • อาการผิวหนังอักเสบ บรรเทาอาการด้วยการทายาสเตียรอยด์ และรับประทานยาแก้แพ้ บรรเทาอาการคัน

ผื่นระคายสัมผัสมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากผื่นระคายสัมผัส/ผื่นแพ้จากระคายเคือง หากไม่รักษาความสะอาด เกาบริเวณผิวหนังอักเสบเป็นแผล อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนในบริเวณที่เป็นผิวหนังอักเสบได้ ซึ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้น จำเป็นต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะการรักษาต้องเป็น การให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

ผื่นระคายสัมผัสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

 ผื่นระคายสัมผัส/โรคผื่นแพ้จากระคายเคืองเป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี คือ หาย ขาดหากสามารถเลี่ยงสารที่ก่อการระคายเคืองที่เป็นสาเหตุได้ 

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคผื่นระคายสัมผัส/ผื่นแพ้จากระคายเคือง คือ

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี/สารการก่อการระคายเคือง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรป้องกันตน เองเมื่อต้องสัมผัสสารเคมี/สารก่อการระคายเคืองต่างๆ เช่น
    • ใส่ถุงมือยางเมื่อ ต้องล้างจาน ทำความสะอาดห้องน้ำ อาจต้องใช้รองเท้าร่วมยางด้วย
    • ทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นผิวชนิดอ่อนโยนต่อผิวเป็นประจำ
  • รีบล้างทำความสะอาดผิวหนังที่สัมผัสสารเคมี/สารก่อการระคายเคืองด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง
  • รักษาผิวหนังให้ชุ่มชื้นเสมอด้วยการใช้ครีม/โลชันให้ความชุ่มชื้นกับผิวที่เป็นชนิดอ่อนโยนต่อผิว
  • พยายามไม่เกาเมื่อคันผิวหนังที่เกิดผื่น อาจใช้การประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการคันเมื่อคันมาก
  • ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกิดแผลอักเสบติดเชื้อจากการเกา

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

ผู้ป่วยโรคผื่นระคายสัมผัส/โรคผื่นแพ้จากระคายเคือง หลังการรักษาและเลี่ยงสารเคมีที่เป็นสาเหตุแล้ว หากอาการผื่นผิวหนังมีแนวโน้มลุกลามขึ้นสามารถมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดได้เสมอ

ป้องกันผื่นระคายสัมผัสอย่างไร?

การป้องกันโรคผื่นระคายสัมผัส/โรคผื่นแพ้จากระคายเคือง ที่สำคัญมี่สุดคือ

  • การเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี
  • หากต้องสัมผัสสารเคมี ให้ป้องกันตนเองจากการสัมผัสสารเคมีโดยตรง เช่น การสวมถุงมือยาง รองเท้ายาง และ
  • หลังการสัมผัสต้องรีบล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง และ ทาโลชั่นบำรุงผิวชนิดอ่อนโยนต่อผิว

บรรณานุกรม

  1. 1.ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
  2. อภิชาติ ศิวยาธร . โรคผิวหนังต้องรู้สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป . พิมพ์ครั้งที่ 5 .สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  3. https://dermnetnz.org/topics/irritant-contact-dermatitis [2021,Nov6]