ผื่นขุยกุหลาบ โรคผื่นร้อยวัน (Pityriasis rosea)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคผื่นขุยกุหลาบ หรือ แพทย์บางท่านเรียกว่า โรคผื่นกุหลาบ หรือโรคกลีบกุหลาบ (Pityriasis rosea) คือ โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ขุยกุหลาบ เพราะชื่อภาษาอังกฤษ Pityriasis แปลว่าขุย (Scale) และ Rosea ก็มาจาก Rose(ดอกกุหลาบ) ซึ่งหมายถึงว่า ผื่นจะมีสีชมพูเหมือนสีดอกกุหลาบ จึงเป็นที่มาเรียกว่าผื่นขุยกุหลาบ ในบางครั้ง โรคนี้ก็เรียกว่า ”โรคผื่นร้อยวัน” เพราะโดยเฉลี่ยจะหายเองได้ที่ประมาณ 3 เดือน

โรคผื่นขุยกุหลาบ พบได้ในทุกเชื้อชาติทั่วโลก โดยมากมักพบในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ (อายุประมาณ 10-35 ปี) อย่างไรก็ตามในเด็กและผู้สูงอายุก็มีรายงานพบผื่นขุยกุหลาบได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยมาก และอาจมีลักษณะผื่นที่ไม่เหมือนผื่นขุยกุหลาบโดยทั่วไป

โรคผื่นขุยกุหลาบพบได้บ่อยประมาณ 0.3-3% ของประชากร พบทั้งในทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่อาจพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อยประมาณ 1.5:1 เท่า

อะไรเป็นสาเหตุการเกิดโรคผื่นขุยกุหลาบ?

ผื่นขุยกุหลาบ

โรคผื่นขุยกุหลาบ มักไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีรายงานว่า เป็นการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งหลังการติดเชื้อบางอย่าง โดยเฉพาะเชื้อไวรัสกลุ่ม HHV 7 (Human herpesvirus 7)

นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้ยาบางประเภทกระตุ้นให้เกิดผื่นขุยกุหลาบได้ เช่น ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง กลุ่ม Angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACE Inhibitor หรือ ACEI ), ยาฆ่าเชื้อ Metronidazole, ยารักษาสิว Isotretinoin, ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ Omeprazole, เป็นต้น โดยถ้าเป็นผื่นที่เกิดจากยากระตุ้น จะหายช้ากว่าผื่นที่ไม่ได้เกิดจากยากระตุ้น

โรคผื่นขุยกุหลาบติดต่อได้หรือไม่?

แม้ว่าในผู้ป่วยบางราย จะมีผื่นกระจายตัวมาก อาจทั่วทั้งตัว แต่โรคผื่นขุยกุหลาบนี้ “ไม่ใช่โรคติดต่อ”ไปบุคคลอื่น ทั้งจาก การกิน ดื่ม การสัมผัส หรือทางหายใจ ร่วมกัน

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคผื่นขุยกุหลาบ?

ไม่พบว่ามีเชื้อชาติใด หรือประชากรกลุ่มใดเสี่ยงในการเกิดโรคได้มากขึ้น แต่โรคนี้พบมากในกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุประมาณ 10-35 ปี สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นผื่นขุยกุหลาบ มีรายงานการคลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะการเกิดผื่นขุยกุหลาบเมื่อตั้งครรภ์ได้ไม่เกิน 15 สัปดาห์

อาการของโรคผื่นขุยกุหลาบเป็นอย่างไร?

อาการของโรคผื่นขุยกุหลาบที่พบบ่อย คือ

  • 50-90% ของผู้ป่วยโรคผื่นขุยกุหลาบ มักเริ่มต้นโดย มีผื่นใหญ่สีชมพูหรือสีเนื้อปลาแซลมอน ขนาดประมาณ 2-4 ซม.(เนติเมตร)นำมาก่อนในทันที เป็นวงกลมหรือวงรี มีขุยล้อมรอบ เรียกว่า ‘Herald patch’ ผื่นมักอยู่บริเวณลำตัว ต้นคอ หรือต้นแขนก็ได้
  • หลังจากนั้นอีกประมาณ 2-10 วัน จะมีผื่นกระจายตัวไปทั่วตัว โดยผื่นมักมีรูปร่างกลมหรือวงรี กระจายตัวเด่นที่ลำตัว แขน ขา ต้นคอได้ การกระจายตัวที่ลำตัวจะมีลักษณะตามแนวรอยพับของผิวหนัง คล้ายต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า “Christmas tree distribution” แต่มักไม่พบผื่นนี้ที่ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าและใบหน้า โดยทั่วไปผื่นนี้จะคงอยู่ได้นาน 6-8 สัปดาห์ หรือบางครั้งได้นานถึง 3 เดือน หลังจากนั้นผื่นจะค่อยๆจางหายไปได้เอง
  • นอกจากนี้ อาจพบอาการ คัน ได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วย และอาจมีอาการ อื่นๆร่วมด้วยได้ (ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้เพียง 5% ของผู้ป่วยทั้งหมด) เช่น
    • มีไข้
    • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
    • ปวดเมื่อยตามตัว
    • ปวดข้อ

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคผื่นขุยกุหลาบ จะไม่มีอาการอื่น กล่าวคือ อาจมีผื่นที่กระจายตัวไปทั่วร่างกายเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีอาการ คัน ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดข้อ ซึ่งโรคนี้จะหายได้เองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผื่นกระจายตามตัวเป็นอย่างมาก ก็ควรจะไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคใด

ทั้งนี้มีหลายโรคที่มีอาการคล้ายโรคผื่นขุยกุหลาบได้ เช่น โรคซิฟิลิส (Secondary syphilis), โรคสะเก็ดเงิน ชนิด Guttate (Guttate psoriasis), และโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดอื่นๆ ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายผู้ป่วยเพิ่มเติม และตรวจพิจารณาลักษณะของผื่นโดยละเอียด เพื่อให้การวินิจฉัย และการรักษาที่แตกต่างกัน ตาม การดำเนินโรคที่แตกต่างกัน

ในบางกรณีที่ไม่สามารถแยกหาสาเหตุผื่นชนิดต่างๆได้ จากประวัติอาการ และจากการตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจลักษณะผื่น แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค/ผื่นร่วมด้วย เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค

แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นขุยกุหลาบได้อย่างไร?

เนื่องจากลักษณะผื่น และการดำเนินโรคของโรคผื่นขุยกุหลาบ ค่อนข้างมีลักษณะจำเฉพาะดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ดังนั้น แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ ได้จากประวัติอาการ ร่วมกับการตรวจร่างกายดูผื่น และการกระจายตัวของผื่นได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผื่นไม่มีลักษณะจำเพาะอย่างที่กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา (การตรวจทางพยาธิวิทยา) ก็จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้ได้เช่นกัน

โรคผื่นขุยกุหลาบรักษาอย่างไร?

เนื่องจากโรคผื่นขุยกุหลาบนี้ สามารถหายได้เอง การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก กล่าวคือการทายา สเตียรอยด์ หรือการรับประทานยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคันกรณีมีอาการคัน ก็เพียงพอ

แต่ในกรณีที่เป็นผื่นกระจายตัวมาก หรือกระจายทั้งตัว อาจรักษาด้วยวิธี

  • รับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่ม Macrolides เช่นยา Erythromycin, Roxithromycin ก็จะช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้นได้
  • ฉายรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet light, UV, รังสียูวี) เพื่อช่วยให้ผื่นกระจายตัวน้อยลง ลดอาการคัน และหายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม การฉายรังสีอัลตราไวโอเลต จำเป็นต้องทำต่อเนื่องหลายครั้ง ในสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือและบุคลากรที่พร้อม

โรคผื่นขุยกุหลาบมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคผื่นขุยกุหลาบ คือ

  • การกังวลในภาพลักษณะจากมีผื่นผิวหนัง
  • บางคนอาจมีอาการคัน
  • และ/หรือบางคนเมื่อผื่นค่อยๆหายไป ผิวหนังตรงรอยผื่นอาจมีสีคล้ำเช่นเดียวกับกรณีเป็นสิว

โรคผื่นขุยกุหลาบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคผื่นขุยกุหลาบ คือ เป็นโรคที่หายได้เองในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน หรือ100 วัน โรคไม่ทำให้ตาย แต่โรคกลับเป็นซ้ำได้ โดยที่พบการกลับเป็นซ้ำได้น้อยมากๆๆ

อนึ่ง โดยทั่วไป โรคผื่นขุยกุหลาบไม่ทำให้เกิดแผลเป็น ส่วนรอยดำหลังผิวหนัง อักเสบ เมื่อผื่นหาย รอยดำก็จะค่อยๆจางลง และหายไปเองในที่สุด

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคผื่นขุยกุหลาบ?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคผื่นขุยกุหลาบ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนจัด เพราะสามารถกระตุ้นให้ผื่นเห่อขึ้นได้
  • ร่วมกับ การพักผ่อนให้เพียงพอ และ หลีกเลี่ยงความเครียด ก็จะช่วยทำให้ผื่นหายเร็วขึ้นได้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ในกรณีที่ได้ยารักษาตามอาการแล้ว ยังคันมาก ผื่นกระจายตัวมากขึ้น และ/หรือเมื่อกังวลใจ ควรกลับมาพบแพทย์ซ้ำ/พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์อาจพิจารณาการรักษาอื่นเพิ่มเติม เช่น การรับประทานยาปฏิชีวนะ การฉายรังสีอัลตราไวโอเลต เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไรไม่ให้โรคผื่นขุยกุหลาบกลับเป็นซ้ำ?

เมื่อเป็นโรคผื่นขุยกุหลาบแล้ว มักไม่เป็นซ้ำอีก เนื่องจากโรคนี้ เป็นการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเคยเป็นครั้งหนึ่งแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันฯถาวรไว้ ทำให้มักไม่เป็นโรคนี้ซ้ำอีก และยังไม่พบว่า มีปัจจัยอะไรที่กระตุ้นให้โรคกลับเป็นซ้ำ

ป้องกันโรคผื่นขุยกุหลาบได้หรือไม่?

ปัจจุบัน โรคผื่นขุยกุหลาบ ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดได้

บรรณานุกรม

  1. สมาคมแพทย์ผิวหนังสหรัฐอเมริกา. Pityriasis rosea
  2. Jean L.Bolognia, Joseph L.Jorizzo, Julie V.Schaffer; Dermatology; third edition; Expert consult
  3. Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; eight edition ; Mc Grawhill medical
  4. Drago F, Broccolo F, Zaccaria E, et al. Pregnancy outcome in patients with pityriasis rosea. J Am Acad Dermatol 2008; 58: S78-83