ผลุบๆ โผล่ๆ ของโปลิโอ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

การควบคุมป้องกันโรคโปลิโอนั้น นพ.อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนิน การในกลุ่มเป้าหมายการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอ ทุกหมู่บ้านที่อยู่ตามแนวชายแดน เขตเทศบาลเมือง และพื้นที่ทุรกันดารทุกแห่ง

โดยเฉพาะพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2552 - 2554) ด้วยโรคคอตีบ ตั้งแต่ 1 รายขึ้นไป หรือโรคหัดตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป ของจังหวัดกาญจนบุรี โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายในการให้วัคซีนโปลิโอ เป็น 2 กลุ่ม คือ เด็กไทย อายุ 0 - 5 ปี จำนวน 28,894 คน และเด็กต่างชาติ อายุ 0 - 15 ปี จำนวน 18,249 คน รวมจำนวน 47,143 คน

อีกทั้งมีการแนะนำให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังโรคโปลิโอ หากพบเห็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรแนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโปลิโอ โดยสามารถมาปรึกษาและขอรับวัคซีนได้ในช่วงการรณรงค์ ครั้งที่ 1 วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2555 และครั้งที่ 2 วันพุธที่ 12 ธันวาคม 2555 ซึ่งจะมีพิธีเปิดการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ณ บริเวณหน้าศาลาขุนแผน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

ดังนั้น คุณสามารถพาบุตรหลานมารับวัคซีนโปลิโอได้ที่จุดรณรงค์ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี และที่สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เป้าหมายการรณรงค์ดังกล่าว โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี โทร. 034-622982 - 3 ต่อ 122

วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโปลิโอมีอยู่ 2 ประเภท คือ วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (Inactivated Polio vaccine = IPV) และ วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน (Oral Polio vaccine = OPV)

วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างภูมิคุ้มกันโปลิโอ มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้รับวัคซีนไป 2 เข็ม สามารถสร้างภูมิต้านทาน (Protective antibody) เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสทั้ง 3 ตัวได้ และอย่างน้อยร้อยละ 99 ของผู้รับวัคซีนไป 3 เข็ม สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน (Immune) ได้

วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสได้ทั้ง 3 ตัว โดยสถิติ ประมาณร้อยละ 50 ของผู้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกินเพียง 1 โดส (Dose) สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสได้ และหากรับวัคซีนครบ 3 โดส อัตราส่วนจะเพิ่มเป็นมากกว่าร้อยละ 95 ของผู้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน

อย่างไรก็ดี ในสหรัฐอเมริกาได้ยุติการใช้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และเนื่องจากการผลิตวัคซีนชนิดฉีดมีการใช้ยาปฏิชีวนะ สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) นีโอมัยซิน (Neomycin) และโพลีมัยซิน บี (Polymyxin B) ดังนั้นจึงห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะเหล่านี้

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเบื้องต้นต้องฉีด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มแรกเมื่อทารกอายุ 1.5 – 2 เดือน เข็มที่ 2 ฉีดเมื่ออายุ 4 เดือน และเข็มที่ 3 ฉีดเมื่ออายุ 6 - 18เดือน และให้ฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 4 - 6 ปี

ปัจจุบันมีวัคซีน IPV ผสมร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ได้แก่ DTaP-IPV, DTaP-IPV-Hib, และ DTaP-IPV-Hib-HBV วัคซีนสำหรับฉีดควรเก็บไว้ในที่อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส ตัววัคซีนจะใสและไม่มีสี วัคซีนที่ขุ่นหรือมีสีที่เปลี่ยนไปควรทิ้งเสีย [เพราะจะไม่มีประสิทธิผล]

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.กาญจน์รณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอ ปี55 http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000127622&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, November 5].
  2. Poliomyelitis. http://en.wikipedia.org/wiki/Polio [2012, November 5].
  3. Poliomyelitis. http://www.cdc.gov/vaccines/pubs/pinkbook/downloads/polio.pdf [2012, November 5].