ผลุบๆ โผล่ๆ ของโปลิโอ (ตอนที่ 3)

ในบรรดาผู้ที่เป็นโรคโปลิโอกลุ่มที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Paralytic poliomyelitis นั้น Spinal polio หรือโปลิโอไขสันหลัง เป็นโปลิโอชนิดที่พบมากที่สุด ถึงร้อยละ 79 ทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของอัมพาต เป็นผลจากการที่เชื้อไวรัสโปลิโอแพร่เข้าไปสู่เซลล์ประสาทสั่งการในไขสันหลัง (Anterior horn cells)

เซลล์ประสาทดังกล่าว ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ รวมถึง กล้ามเนื้อที่ลำตัว แขน ขา และกล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างซี่โครง (Intercostal muscles) ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ประสาท ซึ่งเป็นเหตุให้เส้นประสาทที่นำคำสั่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของอวัยวะและเนื้อเยื่อ (Motor neuron ganglia) ถูกทำลาย

เมื่อเส้นประสาทไขสันหลังตาย จะทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า Wallerian degeneration โดยกล้ามเนื้อที่ถูกควบคุมด้วยประสาทไขสันหลังส่วนนั้นจะอ่อนแอลง จึงไม่ได้รับการสั่งการจากสมองหรือไขสันหลัง กล้ามเนื้อจะลีบลง อ่อนแอ ยากต่อการควบคุม กลายเป็นอัมพาต ภายใน 2 - 4 วัน โดยมีอาการร่วมกับการเป็นไข้และปวดกล้ามเนื้อ

อาการรุนแรงมากน้อยของโปลิโอไขสันหลัง ขึ้นอยู่กับบริเวณตำแหน่งของไขสันหลังที่ติดเชื้อ ซึ่งอาจจะเป็นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical) กระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic) หรือกระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar) เชื้อไวรัสโปลิโออาจจะกระทบต่อกล้ามเนื้อทั้ง 2 ฝั่งซ้ายและขวาของร่างกาย

แต่ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอัมพาตแบบไม่สมดุล อาจกระทบกับแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้ เช่น ทำให้ขาไม่เท่ากันเวลาเดิน อาการอัมพาตมักจะรุนแรงมากกว่าหากเกิดในบริเวณที่แขนขาต่อกับลำตัว (Proximally) เมื่อเทียบกับการเกิดในบริเวณของนิ้วและเท้า (Distally)

Bulbar polio หรือโปลิโอก้านสมองส่วนท้าย พบประมาณร้อยละ 2 ของผู้ที่เป็น Paralytic poliomyelitis เกิดเมื่อเชื้อไวรัสโปลิโอทำลายเซลล์ประสาทในก้านสมองส่วนท้าย ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดอาการภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (Encephalitis) และทำให้เกิดความลำบากในการหายใจ การพูด และการกลืน

เส้นประสาทที่สำคัญที่อาจติดเชื้อได้ คือ เส้นประสาทลิ้น และคอหอย ซึ่งควบคุมการทำงานบางส่วนเกี่ยวกับการกลืน การทำงานของคอ การเคลื่อนไหวของลิ้น และการรับรู้รส เส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve) ซึ่งมีหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังหัวใจ ลำไส้ และปอด และเส้นประสาทแอกเซสซอรี (Accessory nerve) ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของคอส่วนบน

เมื่อมีการกลืนเอาสารคัดหลั่งอย่างเมือก น้ำมูก หรือเสมหะอาจทำให้เกิดอาการสำลัก (Suffocation) ในระบบทางเดินหายใจได้ อาการหรือสัญญาณอย่างอื่นรวมถึงการที่กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง เพราะเส้นประสาทรับความรู้สึกจากบริเวณหน้า ศีรษะ ฟัน และเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงลิ้นส่วนหน้าถูกทำลาย

บริเวณดังกล่าว ครอบคลุมถึงเส้นประสาทที่แก้ม ท่อน้ำตา เหงือก และกล้ามเนื้อที่ใบหน้า ทำให้เห็นภาพซ้อน (Double vision) เคี้ยวลำบาก และอัตราการหายใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลว (Respiratory arrest) ภาวะน้ำท่วมปอด (Pulmonary edema) ช็อคหมดสติ (Shock) และอาจเสียชีวิตได้

Bulbospinal polio หรือ โปลิโอไขสันหลังและก้านสมองส่วนท้าย เป็นอาการร่วม พบประมาณร้อยละ 19 ในกรณีนี้เชื้อไวรัสโปลิโอจะติดเชื้อไปยังส่วนของไขสันหลังส่วนคอ ( Cervical spinal cord) และทำให้เกิดอาการอัมพาตของกระบังลมในช่องท้อง (Diaphragm) เมื่อเส้นประสาทเหล่านี้ถูกทำลาย จะทำให้เกิดอาการโปลิโอที่กระทบกับการหายใจ หรือหายใจไม่ได้หากขาดเครื่องช่วยหายใจ อาจทำให้เกิดอาการอัมพาตที่แขนและขา และอาจกระทบต่อการกลืนและการทำงานของหัวใจ

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.กาญจน์รณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอ ปี55 http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000127622&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, November 4].
  2. Poliomyelitis. http://en.wikipedia.org/wiki/Polio [2012, November 4].