ผลุบๆ โผล่ๆ ของโปลิโอ (ตอนที่ 1)

นพ.อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคโปลิโอได้ลดลงอย่างมาก เป็นผลจากการให้วัคซีนโปลิโอครอบคลุมได้ในระดับสูง ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมาเป็นเวลา 15 ปี และมีอัตราความครอบคลุมการรับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอมากกว่าร้อยละ 99

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเด็กด้อยโอกาสในกลุ่มแรงงานเคลื่อนย้ายอพยพ ทั้งที่เป็นเด็กไทยและเด็กต่างด้าวที่เข้าถึงบริการวัคซีนในระบบปกติได้ยาก อีกทั้งยังมีบางพื้นที่พบเด็กป่วยด้วยโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อที่อาจแพร่ระบาด เข้ามาจากภายนอกประเทศได้ จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกวาดล้างโรคโปลิโออย่างเข้มแข็ง

โรคโปลิโอหรือโรคไข้ไขสันหลังอักเสบ (Poliomyelitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ (PV = Poliovirus)

เชื้อไวรัสโปลิโอแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ ชนิด PV1 ชนิด PV2 และชนิด PV3 โดยทั้ง 3 ชนิดมีโอกาสติดเชื้อได้สูงและแสดงอาการของโรคที่เหมือนกัน

ทั้งนี้เชื้อ PV1 เป็นชนิดที่พบมากที่สุดและทำให้เป็นอัมพาตได้มากที่สุด การติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งหรือฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งเฉพาะ ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสชนิดอื่นได้ ดังนั้นจึงต้องทำการฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบทุกชนิด ซึ่งปกติจะมีการรวมวัคซีนทั้ง 3 ชนิด ไว้ในเข็มเดียวกัน

เชื้อไวรัสโปลิโอส่วนใหญ่ติดต่อโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเข้าไปในร่างกาย มีระยะฟักตัว 3 - 35 วัน (พบบ่อยคือ 6 - 20 วัน) เชื้อจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระเป็นเวลาหลายสัปดาห์นับแต่การติดเชื้อครั้งแรก การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ตราบเท่าที่เชื้อยังมีอยู่ในน้ำลายและอุจจาระ

เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางปาก และจะแบ่งตัวภายในเซลล์ของระบบทางเดินอาหารประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงกระจายไปยังต่อมทอนซิลและกระแสเลือด (Viremia) หลังจากนั้นจึงกระจายไปทั่วร่างกาย เชื้อไวรัสโปลิโอสามารถมีชีวิตและกระจายตัวอยู่ในเลือดและในต่อมน้ำเหลืองเป็นระยะเวลานาน บางครั้งนานถึง 17 สัปดาห์

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือเพิ่มความรุนแรงในการติดเชื้อก็คือ การที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะขาดสารอาหาร การตัดต่อมทอนซิลออก และการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ สระว่ายน้ำสาธารณะเป็นสถานที่ที่ควรระวังเป็นอย่างมากในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ เนื่องจากมีการพบว่าเป็นแหล่งของการติดเชื้อมากที่สุด

การรักษาโรคโปลิโอสมัยใหม่จะรักษาตามอาการ ให้มีการฟื้นตัวให้เร็วที่สุด และป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อน มีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ให้ยาบรรเทาปวด ออกกำลังกายปานกลาง และดูแลเรื่องโภชนาการอาหาร มักใช้เวลานานในการรักษา รวมถึงการทำกายภาพบำบัด ใช้เครื่องช่วยพยุง ใช้รองเท้าที่แก้ไขรูปเท้า และบางกรณีอาจทำการผ่าตัดกระดูก ใช้เครื่องช่วยหายใจแบบพกพา

ส่วนการรักษาในสมัยก่อนมีการรักษาโดยใช้วารีบำบัด (Hydrotherapy) ไฟฟ้าบำบัด (Electrotherapy) การนวด การออกกำลังกาย และการผ่าตัด และแม้การใช้เครื่องช่วยพยุงจะเป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อลีบลงเพราะถูกจำกัดการเคลื่อนไหวก็ตาม แต่ก็ถือเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลเช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.กาญจน์รณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอ ปี55 http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000127622&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, November 2].
  2. Poliomyelitis. http://en.wikipedia.org/wiki/Polio [2012, November 2].
  3. Poliomyelitis. http://www.cdc.gov/vaccines/pubs/pinkbook/downloads/polio.pdf [2012, November 2].