ผมจ๋า อย่าทิ้งกัน! (ตอนที่ 5)

สาเหตุอื่นๆ ของผมร่วงในเด็ก ยังอาจเกิดจากโรคขาดสารอาหาร (Nutritional deficiency) ผมร่วงอาจเป็นสัญญาณของการขาดสารอาหารที่สำคัญอย่าง

  • วิตามินเฮช (Vitamin H) ไบโอทิน (Biotin) ซึ่งมีอยู่ในวิตามินบีคอมเพล็กซ์ (B Complex) ซึ่งช่วยเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นกลูโกสเพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย
  • สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นหลายอย่างต่อกระบวนการสร้างและสลายเซลล์ (Cellular metabolism) และยังช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อยระหว่างการตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และวัยรุ่น
  • บางกรณี ผมร่วงอาจเป็นสัญญาณของการได้รับวิตามินเอที่มากเกินก็ได้

นอกจากนี้เด็กอาจมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โดยเด็กบางคนอาจมีผมร่วงเนื่องจากไทรอยด์เป็นพิษ ไม่สามารถผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบเผาผลาญ (Metabolism) ได้

ได้มีความพยายามในการรักษาผมร่วงมาตั้งแต่อดีต (แต่ส่วนใหญ่ก็ทำได้ไม่มาก) เพื่อความสวยงามหลังการผ่าตัดหรือการรักษาด้วยยา คนส่วนใหญ่มักใช้วิธีใส่วิก (Wigs/Hairpieces) และถักทอเส้นผม (Hair weaving) บางคนก็ใช้การสัก (Tattoos) ขนคิ้วและขนตาที่หายไป มียาบางชนิดที่ใช้รักษาอาการผมร่วงและมีการรักษาทางเลือกอื่นที่ช่วยคงสุขภาพของผมให้แข็งแรง แต่ก็ยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถทดแทนผมทั้งศีรษะได้

การรักษาอาการผมร่วงนั้นมีหลายวิธี เช่น
  • ยาปลูกผม Rogaine ที่มีตัวยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil) ปกติตัวยานี้จะใช้สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่ทำให้ผมดกขึ้น จึงมีการนำมาใช้รักษาอาการผมร่วง โดยใช้ทาวันละ 2 ครั้งบนศีรษะที่ล้านและต้องใช้ต่อเนื่องไปไม่มีกำหนด เพราะถ้าหยุดใช้อาการผมร่วงก็จะเกิดขึ้นอีก ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ใช้กล่าวว่า ช่วยให้ผมดูหนาขึ้นและร่วงน้อยลง แต่อาจใช้ไม่ได้ผลในผู้ชายที่มีผมร่วงศีรษะล้านมาก (Extensive male pattern baldness) ทั้งนี้ยานี้มีผลข้างเคียงที่อาจทำให้หนังศีรษะระคายเคืองและอื่นๆ
  • ยาแก้ผมร่วง Propecia ใช้รักษาผมร่วงศีรษะล้านรูปแบบผู้ชาย (Male pattern baldness) ด้วยการปิดกั้นการสร้างฮอร์โมนเพศชายในผิวหนังที่เป็นสาเหตุให้เกิดผมร่วง โดยใช้กินวันละครั้ง เช่นเดียวกับยาตัวอื่น ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงและห้ามใช้ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์เพราะอาจทำให้แท้งได้ นอกจากนี้ยานี้ยังใช้ไม่ได้ผลกับหญิงสูงอายุด้วย
  • การปลูกเซลล์รากผม (Hair transplantation) ได้แก่การย้ายเซลล์รากผม จากส่วนที่มีผมดกหนาไปยังบริเวณที่ศีรษะล้าน ผมใหม่จะขึ้นในเวลาอีกหลายเดือน
  • การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ (Skin lifts and grafts) เป็นการย้ายแผ่นเนื้อเยื่อ (Flap) จากด้านที่มีผมไปยังบริเวณที่ไม่มีผม
  • การลดบริเวณหนังศีรษะ (Scalp reduction) เป็นการทำศัลยกรรมตกแต่ง ด้วยการตัดหนังศีรษะบริเวณที่ไม่มีเส้นผมออก แล้วเย็บหนังศีรษะบริเวณด้านข้างสองข้างที่มีเส้นผมมาชิดกัน ทำให้มองดูว่าบริเวณศีรษะล้านลดลง

แหล่งข้อมูล:

  1. Hair Loss in Children. - http://children.webmd.com/guide/hair-loss-in-children [2013, May 23].
  2. Understanding Hair Loss - http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hair-loss/understanding-hair-loss-treatment [2013, May 23].