ผมจ๋า อย่าทิ้งกัน! (ตอนที่ 4)

เช่นเดียวกับผู้ชาย ผมร่วงศีรษะล้านรูปแบบผู้หญิง (Female pattern baldness) ก็มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า “เอสโตสเตอโรน” (Testosterone) เปลี่ยนไปเป็น DHT ซึ่งเป็นตัวทำให้ผมร่วง นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของไทรอยด์ฮอร์โมน หรืออยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ การเป็นโรค และผลจากการใช้ยาบางชนิด

ผมร่วงศีรษะล้านแบบผู้หญิง จะไม่ปรากฏอาการที่แนวเส้นผมเริ่มถอยล่าไปด้านหลัง หรือล้านตรงจุดสูงสุดของหนังศีรษะเหมือนผู้ชาย แต่จะมีลักษณะของผมบางที่บริเวณกระหม่อมแทน

เนื่องจากฮอร์โมนมีลักษณะเป็นวงจร (Cyclical) ในขณะที่ระดับของฮอร์โมนเอสโตสเตอโรน ในผู้ชายบางคนที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป จะมีระดับลดลงร้อยละ 10 ทุกๆ 10 ปี ระดับของฮอร์โมนเอสโตสเตอโรน ในผู้หญิงจะเริ่มลดลงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหมดระดู (Menopause) และจะลดลงอย่างมากหลังจากที่หมดระดูแล้ว

สำหรับผมร่วงในเด็กนั้น หากได้รับการวิเคราะห์ที่ถูกต้องแล้วส่วนมากจะรักษาได้ผลดี ส่วนใหญ่เด็กที่อายุตั้งแต่ 26 เดือนขึ้นไป จะมีปัญหาเรื่องผมร่วงจากสาเหตุต่อไปนี้

โรคกลากที่หนังศีรษะและเส้นผม (Tinea capitis) เป็นการติดเชื้อราที่พบบ่อยในเด็ก กลากส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นวงกลมหรือเป็นวงรี การรักษากลากที่หนังศีรษะในเด็กมักให้กินยาต้านเชื้อราเป็นเวลา 8 สัปดาห์ และให้ใช้แชมพูต้านเชื้อรา เช่น Selenium sulfide หรือ Ketoconazole เพื่อกำจัดเชื้อรา และเนื่องจากโรคกลากที่หนังศีรษะติดต่อได้ ดังนั้นไม่ควรให้เด็กใช้หมวก หมอน ที่ตัดผม หรือแปรงร่วมกับผู้อื่น

โรคผมร่วงเป็นหย่อมๆ (Alopecia areata) เป็นโรคที่ไม่ติดต่อ แต่เกิดจากระบบภูมิต้านทาน (Immune system) ของร่างกายมีปัญหากับเซลล์รากผม มักมีการร่วงอย่างเฉียบพลันเป็นจุกคล้ายวงกลมหรือวงรี โดยมีผิวลื่นเป็นมัน ไม่มีสะเก็ด ประมาณร้อยละ 25 ของเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีเล็บเป็นรอยบุ๋มและเป็นสัน ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายได้ มีแต่เพียงการควบคุมโรคไว้ ผมบางคนอาจจะกลับมาขึ้นใหม่ได้อีกในขณะที่บางคนอาจจะผมร่วงได้อีก ประมาณร้อยละ 5 ของเด็กที่เป็นโรคนี้มักจะมีปัญหาผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia totalis)

โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania) เป็นปัญหาที่พบในเด็กที่ชอบดึงและถอนผมตนเอง โดยมีลักษณะของผมร่วงเป็นหย่อมๆ และมีความยาวของผมที่เหลือแตกต่างกัน อาจเกิดจากปัญหาทางด้านจิตใจ เช่น มีการสูญเสียปู่ย่าตายาย มีน้องเกิดใหม่ พ่อแม่หย่าร้าง หรือมีความเครียดจากโรงเรียน การว่าdกาวเด็กเมื่อเห็นเด็กดึงผมตัวเองมักไม่ช่วยให้ดีขึ้น แต่การจัดการกับสาเหตุของความเครียดหรือความวิตกกังวลอาจช่วยได้ดีกว่า

ผมระยะหยุดพักร่วง (Telogen effluvium) เป็นภาวะที่วงจรชีวิตของผมถูกรบกวนจากภาวะความเครียด มีไข้สูง มีการผ่าตัดด้วยการวางยาสลบ มีการเสียชีวิตของบุคคลที่รัก ได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรง หรือกินยาบางชนิดที่ทำให้เกิดการชะงักของการเจริญเติบโตของเส้นผม เซลล์รากผมจะหยุดเจริญโดยถาวร (Telogen)

หลังจากนั้น 6 - 16 สัปดาห์ ผมจะร่วงอย่างมากจนทำให้ศีรษะล้านบางส่วนหรือล้านทั้งหมด ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ อย่างไรก็ดี หากสามารถแก้ไขความเครียดหรือสาเหตุที่มารบกวนการเจริญของรากผมได้ เส้นผมก็จะถูกสร้างได้ตามปกติและจำนวนเส้นผมจะกลับสู่ภาวะปกติใน 6 – 12 เดือน

แหล่งข้อมูล:

  1. Causes of Hair Loss in Women. - http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hair-loss/hair-loss-causes-women [2013, May 22].
  2. Expert Q and A: Fighting Hair Loss in Women. - http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hair-loss/features/fighting-hair-loss-in-women [2013, May 22].
  3. Hair Loss in Children. - http://children.webmd.com/guide/hair-loss-in-children [2013, May 22].