ปัสสาวะเล็ดราด สัญญาณ “โรคชำรั่ว” มาเยือน (ตอนที่ 2)

นพ.ดนัยพันธ์ กล่าวว่า โดยทั่วไปผู้หญิงน่าจะเป็นมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเนื่องจากผู้หญิงมีหูรูดซึ่งทำหน้าที่ปลดปล่อยปัสสาวะเพียง 2 อัน แต่ผู้ชายมี 3 อัน และเมื่อวัยล่วงเลย การทำงานของหูรูดเสื่อมสภาพลง ทำให้ควบคุมปัสสาวะได้น้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ชายเมื่อถึงวัยหนึ่งต่อมลูกหมากที่โตขึ้นจะไปก่อให้เกิดการระคายเคืองที่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการบีบตัวบ่อยขึ้น ทำให้โอกาสที่จะเกิดอาการโอเอบีสูงมากขึ้นเช่นกัน โดยอัตราเฉลี่ยของผู้มีโอกาสจะเป็นโรคนี้เริ่มต้นที่อายุ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุของของอาการปัสสาวะเล็ดในผู้หญิงมักเกิดจาก Stress urinary incontinence (SUI) หมายถึง ภาวะที่มีปัสสาวะเล็ดออกมาโดยควบคุมไม่ได้ขณะออกแรงเบ่ง ไอ หรือจาม ซึ่งเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์มากที่สุด ภาวะปัสสาวะเล็ดอาจเกิดจาก

  • การมีปัสสาวะมาก (Polyuria) ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) อาการกระหายน้ำมากเรื้อรัง (Primary polydipsia) โรคเบาจืดชนิด Central diabetes insipidus (CDI) และ ชนิด Nephrogenic diabetes insipidus (NDI)
  • ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ
  • ต่อมลูกหมากโต ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการปัสสาวะเล็ดในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี บางทีมะเร็งต่อมลูกหมากก็อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ นอกจากนี้ยารักษาโรคหรือรังสีที่ใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมากก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้
  • ความผิดปกติอย่าง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ความผิดปกติของแนวกระดูกสันหลัง (Spina bifida) โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน (Strokes) และการได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ

การตรวจร่างกายจะเน้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด เช่น มีก้อนเนื้อที่อุดขวางทางเดินปัสสาวะ ภาวะอุจจาระอุดตัน (Stool impaction) และประสาทรับรู้การทำงานไม่ดี การทดสอบจะวัดความสามารถของกระเพาะปัสสาวะและปัสสาวะที่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสะท้อนถึงการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะที่แย่ลง

การทดสอบสามารถทำได้หลายวิธี :

  • การทดสอบสมรรถภาพ (Stress test) โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพสบายๆ แล้วไออย่างแรงเพื่อให้แพทย์ดูปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมา
  • การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อ มีนิ่ว หรือสาเหตุอื่น
  • การตรวจเลือด เพื่อดูถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด
  • การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อดูสภาพของไต ท่อไต (Ureter) กระเพาะปัสสาวะ (Bladder) และท่อปัสสาวะ (urethra)
  • การส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อดูสภาพภายในของท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ
  • การตรวจยูโรพลศาสตร์ (Urodynamics) ซึ่งมีหลายวิธีที่ใช้ในการวัดความดันในกระเพาะปัสสาวะและการไหลของปัสสาวะ

แหล่งข้อมูล:

  1. ปัสสาวะเล็ดราด ปัญหาที่มิอาจมองข้าม http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=955000015102 [2012, December 30].
  2. Urinary incontinence. http://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_incontinence [2012, December 30].