ปัญหาโภชนาการในเด็ก:การขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร (Protein energy malnutrition)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

วัยเด็กต้องการอาหาร โปรตีน (Protein) และกำลังงานสารอาหาร (พลังงานสารอาหาร หรือ Energy) มากกว่าวัยอื่น เพราะต้องใช้โปรตีนและกำลังงานสารอาหารในการเจริญเติบโตและในการพัฒนาการ

 

ในอดีต การขาดอาหารในเด็ก หรือที่เรียกว่า ‘การขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร (Protein energy malnutrition)’ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในประเทศไทย หลังจากนั้นเมื่อการแพทย์และการสาธารณสุขดีขึ้น ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลง กลับเป็นว่าพบปัญหาโรคอ้วนตามแบบสังคมตะวันตกมากขึ้น

 

ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ ปัญหาการขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารอาจกลับมาเป็นปัญหาของประเทศไทยอีก จากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงจากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน การตกงาน การขาดความรู้ในการเลี้ยงดูเด็ก และการมีลูกในวัยรุ่นอาจทำให้การเลี้ยงดูเด็กไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารมากขึ้นอีก

 

ภาวะทุโภชนาการหมายถึงอะไร?

ปัญหาโภชนาการในเด็ก_การขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร

ภาวะทุโภชนาการ (Malnutrition) หมายถึง ภาวะที่ทารกและเด็กบริโภคอาหารและได้รับกำลังงานสารอาหารไม่ถูกต้องทั้ง ปริมาณ ชนิด และคุณภาพ ซึ่ง

  • อาจจะได้รับมากเกินความต้องการ จนกลายเป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน
  • หรืออาจได้รับน้อยเกินไป จนเกิดภาวะขาดโภชนาการ (Under nutrition) ซึ่งอาจรุนแรงจนเกิดภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร (Protein energy malnutrition)
  • หรือบางคนได้อาหารเพียงพอ แต่สัดส่วนของอาหารไม่ถูกต้อง (Imbalance nutrition)
  • หรือบางคนอาจได้อาหารและกำลังงานเพียงพอ แต่ขาดสารอาหารบางตัว เช่น วิตามินและเกลือแร่

 

ซึ่งในที่นี้ จะเน้นเฉพาะ ‘เรื่องการขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร’

 

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะทุโภชนาการ?

สาเหตุ/ปัจจัยของภาวะทุโภชนาการ เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันตั้งแต่

1. ปัญหาทางเศรษฐกิจ และทางสังคมของประเทศ

2. แหล่งอาหารในชุมชน

3. ความจำกัดของครอบครัวที่จะผลิตหรือซื้ออาหาร

4. การขาดความรู้ที่ถูกต้องของครอบครัวในการเลี้ยงดูและในการจัดอาหารให้แก่ทารกและเด็ก และมีความเชื่อบางอย่างที่ห้ามกินอาหารบางชนิด

5. การเจ็บป่วยของทารกและของเด็ก ทำให้เด็กได้รับสารอาหารเข้าสู่ร่างกายได้น้อย เช่น

  • ปัญหาการติดเชื้อ
  • ปัญหาท้องร่วง/ท้องเสียเรื้อรัง การดูดซึมสารอาหารจากลำไส้ไม่ดี
  • ท่อน้ำดีตีบตัน ทำให้การดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันผิดปกติ เช่น วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินอี, และวิตามินเค

6. ปัญหาพันธุกรรมบางอย่างทำให้ไม่สามารถกินอาหารได้ปกติ เพราะมีความผิดปกติในการย่อยสารอาหารบางอย่าง

7. การขาดความเอาใจใส่ในการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพตามวัย

 

ภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารเกิดจากอะไร?

ภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร (PEM, Protein energy malnutrition) เป็นกลุ่มของความผิดปกติที่เกิดจากการได้รับโปรตีนและกำลังงานสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อสาเหตุของภาวะทุโภชนาการ’ จึงทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตช้า, มีภาวะน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน (Under weight), หรือเลี้ยงไม่โต (Failure to thrive), โดยมีน้ำหนักต่ำกว่าเปอร์เซนไตล์ (Percentile) ที่ 3 ของค่ามาตรฐานน้ำหนักเทียบกับอายุ (สามารถหาดูกราฟ/Graph การเจริญเติบโตของเด็กตามเพศ อายุ ในสมุดประจำตัวเด็กที่โรงพยาบาลแจกให้ตั้งแต่แรกเกิด ส่วนเปอร์เซนไตล์ คือ ระดับคะแนนทางสถิติ ที่ใช้เปรียบเทียบตัวแปรต่างๆดังกล่าวแล้วทางการเจริญเติบโตของเด็กในวัยต่างๆ เช่น น้ำหนัก และส่วนสูง)

 

ถ้าภาวะนี้รุนแรงขึ้นและเรื้อรังมากขึ้นจะทำให้เด็กตัวเตี้ยหรือแคระแกรน ถ้ามีปัจจัยที่ทำให้เสียเมตาบอลิสึม (Metabolism, ปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย) เช่น การติดเชื้อ จะก่อให้เกิดการขาดกำลังงานสารอาหารและโปรตีนที่ส่งผลให้มีอาการปรากฎชัดเจน เช่น

  • ภาวะบวมทั่วตัวจากขาดโปรตีนอย่างรุนแรง เรียกว่า ‘Kwashiorkor’
  • หรือภาวะผอมแห้งจากขาดกำลังงานสารอาหารอย่างรุนแรง เรียกว่า ‘Marasmus’ ซึ่งคือ การมีกล้ามเนื้ออ่อนเหลว และมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย

 

เด็กที่ขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารจะมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบโดยทั่วไปของเด็กที่ขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหาร คือ

  • มีการเจริญเติบโตไม่สมวัย น้ำหนัก และส่วนสูง ต่ำกว่าเกณฑ์
  • ในกรณีที่มีการขาดกำลังงานสารอาหารเรื้อรัง เด็กจะมีอารมณ์หงุดหงิด ไม่มีความสุข

 

นอกจากจะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารแล้ว ยังมักจะขาดสารอื่นๆร่วมด้วย เช่น ขาดธาตุเหล็ก, ขาดธาตุสังกะสี, และขาดวิตามินต่างๆ, เป็นต้น

 

ในกรณีที่ขาดกำลังงานสารอาหารรุนแรงจะพบอาการได้ 3 ลักษณะคือ

1. ลักษณะบวมทั่วตัว เรียกว่า ‘Kwashiorkor’

2. ไม่บวม เรียกว่า ‘Marasmus’ แต่จะพบมีแก้มเหี่ยว ตัวเหี่ยว ไม่มีกล้ามเนื้อ และไม่มีไขมัน

3. มีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน เรียกว่า ‘Marasmic kwashiorkor’

 

อนึ่ง เด็กที่ขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารรุนแรงพบในประเทศยากจน ขาดแคลนอาหารและมีโรคระบาด หรือในภาวะสงคราม หรือในครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูไม่ถูกต้อง เช่น ในเด็กที่แพ้นมวัวและเลี้ยงด้วยน้ำข้าว ซึ่งทำให้ขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารรุนแรง

 

ในประเทศไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เรายังพบเห็นภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารชนิดรุนแรงทั้ง Kwashiorkor และ Marasmus แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยพบแล้ว ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าในบริเวณที่อยู่ไกลจากตัวเมืองมากๆ ยังพบมีผู้ป่วยขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารจนเนื้อที่ข้างแก้มเปื่อยจนขาดหายไปเป็นรู เรียกว่า ‘Noma’ คิดว่าในประเทศไทยในถิ่นที่ทุรกันดารมากๆอาจยังพบได้

 

สรุปอาการของการขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารอย่างรุนแรงตามอวัยวะต่างๆ มีดังนี้

  • ใบหน้า: ในกลุ่มที่เป็นชนิดบวมทั่วตัว ใบหน้าจะเหมือนดวงจันทร์ (Moon face) คือแก้มป่องบวม ส่วนกลุ่มที่ไม่บวม ใบหน้าจะเหี่ยวแห้ง เรียกว่า Simian facies ซึ่งดูแล้วหน้าคล้ายลูกลิง
  • ดวงตา: ตาแห้ง เมื่อเปิดตาดูเปลือกตาด้านในจะซีด บางคนมีเกล็ดแห้งๆ ที่ตาขาวที่เรียกว่าเกล็ดกระดี่ (Bitot spots) ซึ่งแสดงถึงการขาดวิตามินเอขั้นรุนแรง และมีอาการบวมรอบๆเบ้าตา
  • ช่องปาก: มีการอักเสบที่มุมปาก ริมฝีปาก ลิ้น ต่อมน้ำลายโต และในพวกที่ขาดวิตามินซี จะมีเหงือกอักเสบ และเลือดออกง่าย
  • ฟัน: เคลือบฟันเป็นรูเล็กๆ หรือมีฟันขึ้นช้า
  • ผม: ไม่เป็นเงา แห้ง หักง่าย ผมร่วง สีเปลี่ยนเป็นจางลง ขนตาสั้น ห่าง
  • ผิวหนัง: เหี่ยวย่นในพวก Marasmus แต่ผิวหนังบวมมันในพวก Kwashiorkor และทั้งสองกลุ่ม ผิวแห้ง รูขุมขนเป็นตุ่มหนา ผิวหนังมีทั้งสีเข้มขึ้น และ/หรือสีจางลง ผิวลอก และเมื่อเป็นแผลจะหายช้า
  • เล็บ: เล็บจะบาง นิ่ม หรือเป็นรูปช้อนงอนขึ้น มีร่องหรือมีเส้นนูนบนเล็บ
  • กล้ามเนื้อ: ไม่มีกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณสะโพก ต้นขา เมื่อเคาะที่แก้มจะมีกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปากกระตุก ซึ่งเป็นอาการของการขาดธาตุแคลเซียม
  • กระดูก: มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากขาดแคลเซียม วิตามินดี หรือวิตามินซี
  • ช่องท้อง: ช่องท้องโตขึ้น อาจมีตับโตเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อตับจากมีการจับของไขมันเพิ่มขึ้น (Fatty liver) และอาจมีน้ำในช่องท้อง
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด: หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตต่ำ และการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดน้อยลง
  • ระบบประสาทและพัฒนาการ: มีพัฒนาการโดยรวมช้า ความจำผิดปกติ การตอบสนองของระบบประสาท (รีเฟล็กซ์/Reflex) ช้าลงหรือสูญเสียไป
  • ระบบโลหิตวิทยา: มีภาวะซีด และเลือดออกง่าย
  • พฤติกรรม: หงุดหงิด ซึม เฉย ไม่ร่าเริง

 

เด็กวัยใดพบภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารมากที่สุด?

เด็กที่พบภาวะขาดโปรตีนและกำลังสารอาหารมากที่สุด คือ เด็กวัยก่อนเรียน เนื่องจาก

1. วัยนี้มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ความต้องการโปรตีนและกำลังงานสารอาหารต่อน้ำหนักตัวสูงกว่าวัยอื่นๆ

2. ยังไม่สามารถกินอาหารด้วยตนเองได้เต็มที่

3. วัยนี้มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าวัยอื่นๆ

4. พฤติกรรมการเลี้ยงดู ความเชื่อของผู้เลี้ยงดูเด็กทำให้เด็กได้รับอาหารโปรตีนและกำลังงานไม่เพียงพอ

 

แพทย์รักษาภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารอย่างรุนแรงอย่างไร?

แพทย์จะมีเกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารอย่างรุนแรง โดยผู้ที่มีอาการรุนแรงนี้แพทย์จะให้นอนรักษาในโรงพยาบาล และแบ่งการรักษาออกเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 การรักษาระยะเฉียบพลัน
  • ระยะที่ 2 ระยะที่เด็กเริ่มดีขึ้น
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะฟื้นฟู

 

ก. การรักษาใน’ระยะที่ 1’: ใน 24 ชั่วโมงแรกแพทย์จะรักษาภาวะร่วมต่างๆ เช่น ภาวะไม่สมดุลของสารเกลือแร่, ภาวะซีด/โลหิตจาง, ภาวะหัวใจล้มเหลว, และภาวะติดเชื้อ, เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา (การทำงานของอวัยวะต่างๆ) กลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว

 

ซึ่งในระยะนี้แพทย์จะต้องเจาะเลือดตรวจระดับสารเกลือแร่ในเลือดและสารเคมีต่างๆในเลือด, ทำการเอกซเรย์อวัยวะต่างๆถ้าจำเป็น ส่งสารคัดหลั่งต่างๆเพาะเชื้อ, และตรวจดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพราะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจเสียชีวิตได้ในระยะนี้

 

ข. เมื่อรักษาภาวะเฉียบพลันผ่านพ้นไปแล้ว จะเข้า’ระยะที่2:ระยะที่เริ่มดีขึ้น’ แพทย์จะเริ่มต้นรักษาด้านโภชนาการอย่างช้าๆ, ให้อาหารทีละน้อย โดยค่อยๆเพิ่มกำลังงานสารอาหารจาก 25-50 กิโลแคลอรี/น้ำหนักผู้ป่วย 1 กิโลกรัม (กก.) /วัน จนสูงถึง 150 กิโลแคลอรี/กก./วัน, การให้นมในระยะนี้ต้องให้นมที่มีน้ำตาลแลกโตส (Lactose) น้อย หรือไม่มีน้ำตาลแลกโตสเลย เพราะในระยะนี้ ในเด็กที่ขาดกำลังงานสารอาหารรุนแรง ลำไส้มักสร้างน้ำย่อยน้ำตาลแลกโตสได้น้อย ถ้ากินแลกโตสมากอาจเกิด ท้องเสีย ท้องอืด และปวดท้องได้, และการให้สารเกลือแร่ต่างๆก็ต้องเริ่มแต่น้อยๆก่อนเช่นเดียวกัน

 

ค. เมื่อผู้ป่วยเริ่มรับประทานอาหารได้ดีขึ้น จึงเข้าสู่การรักษาใน ‘ระยะที่3:ระยะฟื้นฟู’ โดยให้ปริมาณกำลังงานสารอาหารสูงขึ้นเป็นวันละ 150-200 กิโลแคลอรี/กก./วัน, ในระยะนี้เริ่มเสริมธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุเหล็กไม่ควรเริ่มเร็วในระยะที่ 1 หรือ 2 เพราะในระยะดังกล่าว สารในร่างกายที่จะจับธาตุเหล็กไปใช้มีน้อย การเสริมธาตุเหล็กในระยะนั้นๆจึงยังไม่ได้ประโยชน์

 

ป้องกันภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารที่รุนแรงอย่างไร?

ป้องกันภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารที่รุนแรงได้โดย

1. มีนโยบายระดับชาติในการส่งเสริมภาวะโภชนาการ มีการกระจายแหล่งอาหาร และการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเพื่อการรักษาทันทีที่พบกรณีปัญหา

2. มีการให้สุขศึกษารายบุคคลและการเพิ่มสื่อมวลชนในการกระจายองค์ความรู้ เช่น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้อาหารเสริมระยะหย่านม การรักษาอุจจาระร่วง/ท้องเสียตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และการบริโภคประเภทอาหารให้ถูกต้องและให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของเด็ก

3. การผลิตอาหารและมีอาหารให้เพียงพอทั้งในระดับชุมชนและในระดับครอบครัว

4. การลดอัตราการเพิ่มของประชากร

5. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และการป้องกันภาวะติดเชื้อ

6. การส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาในศูนย์โภชนาการตามเกณฑ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสม

 

เด็กเลี้ยงไม่โตหมายความว่าอย่างไร?

ปัญหาทุโภชนาการในเด็กเล็ก หรือภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานสารอาหารที่พบบ่อย คือ

  • เด็กเลี้ยงไม่โต (Failure to thrive) ซึ่งหมายถึง เด็กที่มีปัญหาในการเจริญเติบโต ซึ่งคือ เด็กที่น้ำหนักตัวไม่ขึ้น น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับเด็กที่มี อายุ เพศ และเชื้อชาติเดียวกัน หากเกิดในระยะยาวนานและรุนแรง อาจมีปัญหาเรื่องส่วนสูงและรอบศีรษะไม่เติบโตตามปกติร่วมด้วย
  • เด็กเลี้ยงไม่โต อาจเป็นผลจากปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (เช่น จากถูกทอดทิ้ง หรือจากมีความรุนแรงในบ้าน) ด้วย แต่ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้มักเกิดจากการได้รับอาหารไม่เพียงพอ

 

เด็กเลี้ยงไม่โตก่อปัญหาอะไรบ้าง?

ภาวะเด็กเลี้ยงไม่โต ทำให้เกิดปัญหาดังนี้

1. ตัวเตี้ย (Short stature)

2. มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายลดลง ทำให้เจ็บป่วยง่าย

 

ดังนั้น การพบปัญหาเด็กเลี้ยงไม่โตได้เร็ว และรีบให้การรักษา จะป้องกันไม่ให้เด็กสูญเสียการพัฒนาตามวัยในระยะยาว

 

อะไรเป็นสาเหตุของเด็กเลี้ยงไม่โต?

สาเหตุของเด็กเลี้ยงไม่โต คือ

1. ได้รับอาหารและกำลังงานสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น จากเทคนิคการให้อาหาร เศรษฐกิจ สังคมไม่ดี และจากปัญหาเลี้ยงดู

2. มีการดูดซึมอาหารจากลำไส้ผิดปกติ เช่น ท้องร่วง/ท้องเสียเรื้อรัง หรือแพ้น้ำตาลแลกโตสในนม

3. มีการใช้กำลังงานสารอาหารมาก หรือมีความต้องการกำลังงานสารอาหารมากในกรณีมีโรคบางอย่าง เช่น

  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • โรคมะเร็ง
  • มีการอักเสบของลำไส้เรื้อรัง
  • โรคหัวใจ
  • โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง

 

อนึ่ง ในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ เมื่อผู้ป่วยหอบเหนื่อยมาก ก็จะใช้กำลังงานมากขึ้น

 

แพทย์วินิจฉัยเด็กเลี้ยงไม่โตได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเด็กเลี้ยงไม่โตได้จาก

  • การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และวัดรอบศีรษะในเด็กเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ในเด็กเล็กจะวัดความยาว (นอนวัดความยาว วัดจากเส้นตั้งฉากกับส่วนเหนือสุดของศีรษะจนถึงส้นเท้าเด็ก) เมื่อวัดแล้วในแต่ละตัวแปร (Parameter) คือ น้ำหนัก ส่วนสูง เส้นรอบศีรษะ ควรนำมาเปรียบเทียบกับค่ากราฟมาตรฐานการเจริญเติบโต (Growth chart) ที่ใช้เทียบตาม เพศ อายุ และเชื้อชาติ ซึ่งในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป ในประเทศไทยก็มีกราฟการเจริญเติบโต น้ำหนัก ส่วนสูง เทียบตามเพศและอายุของเด็กไทย ซึ่งกราฟทั่วไปมักจะมี น้ำหนักเทียบกับอายุ (Weight-for-age) ส่วนสูงเทียบกับอายุ (Length-for-age หรือ Height-for age ) รอบศีรษะเทียบกับอายุ (Head circumference-for-age) และน้ำหนักเทียบกับส่วนสูง (Weight-for-height)

 

เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปของการวินิจฉัยเด็กเลี้ยงไม่โตที่แน่ชัด ดังนั้นข้อแนะนำที่จะวินิจฉัยเด็กเลี้ยงไม่โตมีดังนี้

1. น้ำหนักต่ำกว่าเปอร์เซนไตล์ ที่3 แต่บางสถาบันใช้เปอร์เซนไตล์ที่ 2

2. น้ำหนักตัวน้อยกว่า 80% ของน้ำหนักที่ควรเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับอายุโดยกราฟเปรียบเทียบการเจริญเติบโตมาตรฐาน

3. น้ำหนักเปรียบเทียบกับส่วนสูงลดลง (ได้แก่ Weight-for- age น้อยกว่า Length-for-age, Weight for length น้อยกว่า เปอร์เซนไตล์ที่ 10)

4. อัตราการเพิ่มน้ำหนักน้อยกว่าที่คาดหมายตามอายุ ได้แก่

  • 26 ถึง 31 กรัมต่อวัน ในเด็กอายุ 0 ถึง 3 เดือน
  • 17 ถึง 18 กรัมต่อวัน ในเด็กอายุ 3 ถึง 6 เดือน
  • 12 ถึง 13 กรัมต่อวัน ในเด็กอายุ 9 ถึง 12 เดือน
  • 7 ถึง 9 กรัมต่อวัน ในเด็กอายุ 1 ถึง 3 ปี

 

เด็กเลี้ยงไม่โตมีระดับความรุนแรงอย่างไร?

มีผู้แบ่งระดับความรุนแรงของเด็กเลี้ยงไม่โตหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่แบ่งเป็น

  • มีอาการน้อย (อาการ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการจากการขาดโปรตีนและกำลังสารอาหาร)
  • มีอาการปานกลาง
  • และมีอาการมาก

 

*ซึ่งการแบ่งความรุนแรงดังกล่าว อาจสำคัญน้อยกว่าการหาว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

 

แพทย์ให้การรักษาเด็กเลี้ยงไม่โตอย่างไร?

เป้าหมายสำคัญสำหรับการรักษาเด็กเลี้ยงไม่โต คือ

  • การให้อาหารให้เพียงพอจนเด็กสามารถเติบโตได้ทันเพื่อน ซึ่งการจัดการ จะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงประเภทและปริมาณอาหาร เวลาการให้อาหาร สิ่งแวดล้อม และขจัดปัญหาทางจิตใจที่มีผลทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาเลี้ยงไม่โต
  • และที่สำคัญ เน้นการเลี้ยงดูของมารดาบิดาและผู้เลี้ยงดูเด็ก โดยประเด็นนี้จะเน้นเรื่องการให้ความรู้ในการให้อาหารให้เหมาะสม เนื่องจากการรักษาเด็กเลี้ยงไม่โตนี้ ผู้เลี้ยงดูเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

การจัดการปัญหาเด็กเลี้ยงไม่โตจะขึ้นกับความต้องการของเด็กแต่ละคน แต่ละครอบครัว ซึ่งต้องการการประเมิน และทราบรายละเอียดเพื่อวางแผนทั้งในเรื่องการรักษาโรคต่างๆที่เป็นอยู่ สภาวะโภชนาการ การพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย พฤติกรรมและจิตสังคม ตลอดจนการสนับสนุนทางด้านความรู้และกำลังใจแก่ผู้เลี้ยงดู

 

ในพวกที่มีอาการไม่มาก แพทย์มักจะให้คำแนะนำปรึกษาเป็นผู้ป่วยนอก แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์ต้องให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุของภาวะเลี้ยงไม่โตและเพื่อรักษาอาการตลอดจนสร้างทีมงานในสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ นักโภชนาการ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อเป็นทีมช่วยเหลือเด็กและครอบครัวตามความจำเป็นในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง

 

ความต้องการกำลังงานสารอาหารของเด็กเป็นอย่างไร?

ปริมาณกำลังงานจากสารอาหารชนิดต่างๆ ได้จากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย มีหน่วยเป็นกิโลแคลอรี (Kilocalorie) หรือเป็นแคลอรี (Calorie)

 

กลุ่มสารอาหารที่ให้กำลังงานแก่ร่างกายเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก (Macronutrients) ได้แก่

  • คาร์โบไฮเดรต, โปรตีน ที่ให้กำลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม
  • แต่ไขมันต่างๆให้กำลังงานแตกต่างกันตั้งแต่ 3.3 ถึง 9 กิโลแคลอรีต่อกรัม (แล้วแต่ว่าเป็นไขมันชนิดที่มีโมเลกุลสั้น หรือยาวต่างกัน)

 

ทารกและเด็กในแต่ละช่วงอายุต้องการกำลังงานแตกต่างกัน โดย อาหารที่ทารกและเด็กรับประทานควรมีสัดส่วนกำลังงานที่สมดุล กล่าวคือ ในแต่ละวัน ควรได้กำลังงาน

  • จากคาร์โบไฮเดรต 40-60%
  • จากโปรตีน 7-15%
  • และจากไขมัน 30-35%

 

ความต้องการกำลังงานที่ได้จากสารอาหารจะค่อยๆลดลงเมื่ออายุของเด็กมากขึ้น โดย

  • ทารกในขวบปีแรก ต้องการกำลังงานต่อวันประมาณ 80-120 กิโลแคลอรี/กก./วัน
  • และความต้องการจะค่อยๆ ลดลงประมาณ 10 กิโลแคลอรี/กก./วัน ทุกช่วง 3 ปีของอายุที่เพิ่มขึ้น

 

กำลังงานนี้นำไปใช้ในการทำงานต่างๆของร่างกาย ในการเคลื่อนไหว, ในการออกกำลังกาย, และในการเจริญเติบโต

 

มารดา บิดา ผู้ปกครองควรทราบว่า อาหารชนิดใดให้ คาร์โบไฮเดรต, โปรตีน, และไขมัน, เพื่อจัดเตรียมอาหารให้เด็กได้อย่างเหมาะสม

 

ในเด็กทารก นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดจนถึงอายุ 6 เดือน, หลังจากนั้นให้อาหารเสริมตามวัย, และให้นมแม่ควบคู่ไปด้วย (ดูคำแนะนำจากสมุดประจำตัวเด็กที่ทุกโรงพยาบาลจะแจกหลังเด็กคลอด)

 

ควรดูแลเด็กเลี้ยงไม่โตอย่างไร?

ควรดูแลเด็กเลี้ยงไม่โต ดังนี้

1. จัดการให้เด็กได้รับกำลังงานสารอาหารอย่างเพียงพอ

2. สร้างปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่กับลูกให้ดีขึ้น และเน้นในส่วนของการให้อาหารแก่เด็ก

3. รักษาโรคหรือภาวะทางกาย หากเด็กมีปัญหานั้นๆ

4. ในเด็กบางคนต้องการการกระตุ้นการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ ซึ่งบิดา มารดา และคนดูแลเด็ก จะได้รับคำแนะนำในการดูแลเด็กจาก แพทย์ และพยาบาล

5. ช่วยเหลือในด้านจิตสังคมแก่ครอบครัว

6. ให้กำลังใจแก่บิดา มารดา และผู้ดูแล

 

ควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อใด?

บิดา มารดาและผู้ดูแล ควรติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กจากสมุดคู่มือที่ได้รับจากโรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อแรกเกิด ซึ่งจะมีข้อมูลทั้งเรื่องการเจริญเติบโต, พัฒนาการ, การให้นม, การให้อาหารเสริม, และการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

 

ในสมุดนั้นจะมีกราฟการเจริญเติบโต ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง และเส้นรอบศีรษะ บิดา มารดา คนดูแล ควรดูกราฟนั้นให้เป็น (ขอความรู้จากพยาบาล หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรืออาสาสมัครด้านดูแลสุขภาพ) และใช้ติดตามการเจริญเติบโตของบุตรหลาน

 

หากการเจริญเติบโตเบี่ยงเบนไปจากปกติ อาจมากไป หรือน้อยไป ควรรีบไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อที่แพทย์จะได้หาสาเหตุของความผิดปกติซึ่งอาจมีปัญหาจากโรค, หรือจากภาวะผิดปกติอื่นๆ, ตลอดจนปัญหาด้านโภชนาการ, เพื่อที่จะได้แก้ไขรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที

 

บรรณานุกรม

  1. กุสุมา ชูศิลป์. ภาวะขาดโปรตีนและกำลังงานในเด็ก. ใน: สุขชาติ เกิดผล, อวยพร ปะนะมณฑา, จามรี ธีรตกุลพิศาล, ชาญชัย พานทองวิริยะกุล, ณรงค์ เอื้อวิชญาแพทย์, จรรยา จิระประดิษฐา. บรรณาธิการ. วิชากุมารเวชศาสตร์. ขอนแก่น. แอนนาออฟเซต, 2552:หน้า851-76.
  2. กุสุมา ชูศิลป์. หลักการให้อาหารทารกและเด็ก. ใน: สุขชาติ เกิดผล, อวยพร ปะนะมณฑา, จามรี ธีรตกุลพิศาล, ชาญชัย พานทองวิริยะกุล, ณรงค์ เอื้อวิชญาแพทย์, จรรยา จิระประดิษฐา. บรรณาธิการ. วิชากุมารเวชศาสตร์. ขอนแก่น. แอนนาออฟเซต, 2552:หน้า 827-49.
  3. Grover Z, Ee LC. Protein energy malnutrition. Pediatr Clin N Am 2009;56:1055-68.
  4. Kirkland RT, Motil KJ. Etiology and evaluation of failure to thrive (undernutrition) in children younger than two years. http://www.uptodate.com.Retrieved December 15, 2011.
  5. Kirkland RT, Motil KJ. Management of failure to thrive (undernutrition) in children younger than two years. hhttp://www.uptodate.com.Retrieved December 15, 2011.