ปอดอักเสบในเด็ก (ตอนที่ 4)

ปอดอักเสบในเด็ก

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำถึงวิธีการสังเกตถึงการหายใจของเด็กที่มีลักษณะเป็นโรคปอดอักเสบดังนั้น

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน – หายใจมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ครั้งต่อนาที
  • เด็กอายุ 2-11 เดือน - หายใจมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ครั้งต่อนาที
  • เด็กอายุ 12-59 เดือน - หายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที

กรณีที่เป็นการติดเชื้อไวรัสอาจไม่ต้องรักษาอะไร นอกจากให้นอนพักผ่อนและคอยควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เป็นไข้สูง และไม่ควรใช้ยาแก้ไอที่มีส่วนประกอบของ Codeine หรือ Dextromethorphan เพราะการไอเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากช่วยระบายเชื้อออกได้ ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสจะดีขึ้นในเวลา 2-3 วัน แต่อาการไออาจจะอยู่นานหลายสัปดาห์

กรณีที่เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรให้เด็กกินยาให้ครบคอร์สแม้ว่าเด็กจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะเชื้อแบคทีเรียอาจจะคงอยู่และทำให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ทั้งนี้ อาจให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • ไอเสียงดังวู้ปๆ (Whooping cough)
  • เป็นไข้สูง
  • มีปัญหาเรื่องการหายใจ
  • ต้องรักษาด้วยการให้ออกซิเจน
  • มีการติดเชื้อของปอดเข้าสู่กระแสเลือด
  • ป่วยเรื้อรังจนมีผลต่อระบบภูมิต้านทาน
  • อาเจียนมากจนไม่สามารถกินยาทางปากได้
  • เป็นปอดอักเสบอยู่บ่อยๆ

โดยสิ่งสำคัญในการรักษาปอดอักเสบในเด็กอย่างแรกคือ การรักษาอาการหายใจอึดอัด (Respiratory distress) ภาวะขาดออกซิเจนหรือภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย (Hypoxemia / Hypoxia) และ ภาวะการหายใจล้มเหลว (Hypercarbia)

ส่วนการดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบเมื่ออยู่ที่บ้านนั้น ทำได้ดังนี้

  • จำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำและพักผ่อนให้มากในขณะที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค
  • ให้เด็กกินยาตามแพทย์สั่ง ไม่แนะนำให้ซื้อยากินเองในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ
  • หากมีไข้มากกว่า 38°C ให้รีบไปพบแพทย์
  • คอยสังเกตุดูสีเล็บนิ้วมือและริมฝีปาก หากมีสีคล้ำหรือเป็นสีเทาแสดงว่าปอดได้รับออกซิเจนไม่พอ ให้รีบไปพบแพทย์

บรรณานุกรม

1. แนะสังเกตอาการปอดอักเสบในเด็ก. http://www.thaihealth.or.th/Content/33883-แนะสังเกตอาการปอดอักเสบในเด็ก.html [2016, December 7].