ปอดอักเสบในเด็ก (ตอนที่ 2)

ปอดอักเสบในเด็ก

โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบในเด็ก (Pediatric Pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อที่ปอดที่เกิดได้จากเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิต

โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัสอย่าง อดีโนไวรัส (Adenoviruses) ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus = Flu), ไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus = RSV) ฮิวแมน เมทตะนิวโมไวรัส (Human metapneumovirus = hMPV) และพาราอินฟลูเอนซาไวรัส (Parainfluenza virus) หรือ

การติดเชื้อแบคทีเรียอย่าง สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumonia) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีการติดเชื้อมากที่สุดในเด็ก รองลงมาได้แก่ เชื้อฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ ชนิดบี (Haemophilus influenzae type b = Hib) ทั้งนี้ ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการที่รุนแรงกว่า

ปอดอักเสบมักเกิดหลังจากที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนอย่างการติดเชื้อที่จมูกและคอ อาการมักเริ่มเป็น 2 หรือ 3 วัน หลังจากที่เป็นไข้หวัดหรือเจ็บคอ แล้วจึงมีการติดเชื้อที่ปอด ของเหลว เซลล์เม็ดเลือดขาว เริ่มมารวมตัวกันที่ช่องปอดและกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ปอดทำงานได้ไม่ดี

ปอดอักเสบเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากการติดเชื้ออันดับหนึ่งของเด็กทั่วโลก โดยในปี พ.ศ.2558 ทำให้เด็กเสียชีวิต 920,136 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของสาเหตุการเสียชีวิตในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะในเขตเอเชียใต้และเขตแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Saharan Africa)

อาการปอดอักเสบในเด็กขึ้นกับอายุและเชื้อที่เป็นต้นเหตุ แต่โดยทั่วไปมีอาการดังนี้

  • เป็นไข้
  • หนาวสั่น
  • ไอ
  • คัดจมูก (Stuffy nose)
  • หายใจเร็วมาก
  • หายใจมีเสียงร้องครางหรือเสียงหวีด (Grunting or wheezing sounds)
  • หายใจลำบาก รวมถึง การหายใจจนรูจมูกบาน (Flaring of the nostrils) การหายใจโดยใช้ท้อง (Belly breathing) หรือมีการเคลื่นไหวของกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง
  • อาเจียน
  • เจ็บหน้าอก
  • ปวดท้อง ซึ่งมักมีสาเหตุจากการที่เด็กไอและหายใจลำบาก
  • เซื่องซึม
  • เบื่ออาหาร ที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • ในรายที่รุนแรง จะมีริมฝีปากและเล็บมือออกเป็นสีน้ำเงินหรือสีเทา

บรรณานุกรม

1. แนะสังเกตอาการปอดอักเสบในเด็ก. http://www.thaihealth.or.th/Content/33883-แนะสังเกตอาการปอดอักเสบในเด็ก.html [2016, December 7].