ปอดอักเสบ มัยโคพลาสมา ที่น่ารำคาญ (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

สาเหตุของปอดอักเสบนอกแบบ (Atypical pneumonia) มีข้อแตกต่างจากปอดอักเสบทั่วไป ดังนี้

  • ไม่สนองตอบยาปฏิชีวนะทั่วไป เช่น ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) และ เบตาแล็คแตม (Beta-lactam)
  • ไม่มีสัญญาณและอาการของของเหลวคั่งในปอดทั้งกลีบ (Lobar consolidation) ซึ่งหมายถึงการติดเชื้อเฉพาะบริเวณแคบๆ มากกว่าปอดติดเชื้อทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากโรคดำเนินโรคต่อไป ก็อาจกลายเป็น ปอดอักเสบทั้งกลีบ (Lobar pneumonia) ได้
  • ไม่มีการเพิ่มของเม็ดโลหิตขาว (Leukocytosis) ที่มีนัยสำคัญ
  • อาการจากการอักเสบอื่นๆของอวัยวะนอกเหนือจากปอด (Extra-pulmonary symptoms) ที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ต้นเหตุ
  • มีเสมหะหรือเสลดเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
  • ไม่มีน้ำหรือของเหลวคั่งในถุงลม (Alveolar exudates)
  • ไม่มีอาการหรือปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่นไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ การกระแอมแห้งๆ ที่ระคายเคือง และจบด้วยการไอ และการเอกซเรย์ภาพปอด จะแสดงให้เห็นการอักเสบของกลีบปอด

ยาที่รักษาปอดอักเสบมัยโคพลาสมาได้ผลดี ได้แก่ เตตราซัยคลิน (Tetracyclin) และเออไรโธรมัยซิน (Erythromycin) รวมถึง ผลิตภัณฑ์ต่อยอดของเตตราซัยคลิน เช่น ดอกซิซัยคลิน (Doxycycline) และ มาโครไลด์ (Macrolide) ก็ได้ผลดีเช่นกัน ส่วนเพนิซิลลิน (Penicilin) และ เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากจุลินทรีย์มัยโคพลาสมา ไม่มีผนังเซลล์

เออไรโธรมัยซิน ซึ่งมีชื่อการค้าว่า เออไรเทบ (Ery–Tab) เป็นยาปฏิชีวนะของมาโครไลด์ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เอซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ซึ่งมีชื่อการค้าว่า ซิโธรแมกซ์ (Zithromax) ก็เป็นยาปฏิชีวนะ มาโครไลด์ ที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในการรับมือกับปอดอักเสบมัยโคพลาสมา เพราะความง่ายต่อการใช้

และยังมีแคลริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ชื่อการค้าคือ ไบแอกซิน (Biaxin) เป็นยาปฏิชีวนะ มาโครไลด์เช่นกัน [และเป็นยาที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศไทย] ส่วนด็อกซิซัยคลิน ชื่อการค้าคือ ไวบรามัยซิน (Vibramycin) เป็นยาปฏิชีวนะ ตระกูลเตตราซัยคลิน ที่ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน ซึ่งเป็นตัวประกอบของแบคทีเรียที่มีปฏิกริยาไว

นอกจากนี้ยังมี เลฟโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) ซึ่งมีชื่อการค้าว่า เลฟวาควิน (Levaquin) และ มอกซิฟลอกซาซิน (Moxilfloxxacin) ซึ่งมีชื่อการค้าว่า เอเวลอกซ์ (Avelox) ทั้งคู่เป็นยาปฏิชีวนะ ฟลูโอโรควินโนโลน (Fluoro-quinolone) ที่ใช้รักษาการติดเชื้อมัยโคพลาสมา โดยยับยั้งการถ่ายแบบ (Replication) และการถอดรหัส (Transcription) ของแบคทีเรีย DNA

โรคปอดอักเสบมัยโคพลาสมา ก่อความเจ็บป่วยให้กับระบบทางเดินหายใจ ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกฤดูกาล แต่การระบาดมักเกิดช่วงปลายฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง โดยในช่วงอากาศร้อน โรคปอดอักเสบมัยโคพลาสมา จะเป็นสาเหตุประมาณกึ่งหนึ่งของ ปอดอักเสบทั้งหมด

โรคนี้ไม่มีอันตรายถึงชีวิต เพียงแต่อาจมีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส (Celsius) เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม ผู้ป่วยมักไม่มีอาการรุนแรง แต่อาการเจ็บป่วยที่น่ารำคาญ และจะคงอยู่นานเป็นหลายสัปดาห์ ในบางรายกินเวลาได้ถึง 1–2 เดือน ซึ่งก็รบกวนการใช้ชีวิตปกติของผู้ป่วยได้มาก

แหล่งข้อมูล :

  1. Atypical Pneumonia. http://en.wikipedia.org/wiki/Atypical_pneumonia [2012, June 28]
  2. Mycoplasma Pneumonia. http://emedicine.medscape.com/article/1941994-medication#2 [2012, June 28]