ปวดไหล่ (Shoulder pain)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุของปวดไหล่มาจากอะไร?

สาเหตุของอาการปวดไหล่ ที่พบบ่อยเกิดจากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากพยาธิสภาพที่ข้อไหล่เอง หรือเกิดจากพยาธิสภาพของกระดูกต้นคอ/กระดูกคอส่วนต่อกับกระดูกสันหลังอก หรือกล้ามเนื้อพังผืดรอบข้อไหล่และสะบักอักเสบ นอกจากนี้ ยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆที่พบน้อยกว่า เช่น ข้อไหล่เสื่อม การติดเชื้อ หรือ เนื้องอก หรือมะเร็ง บริเวณข้อไหล่ รวมถึงพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ และปอด ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดไหล่ได้ ในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะสาเหตุที่พบบ่อย 3 อันดับแรก ได้แก่

ก. พยาธิสภาพของข้อไหล่โดยตรง: ได้แก่

  • เอ็นกล้ามเนื้อ(ในที่นี้ข้อเรียกว่า เอ็น)รอบข้อไหล่อักเสบหรือฉีกขาด เอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่พบการอักเสบได้บ่อย พบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยอายุน้อย ส่วนใหญ่เกิดตามหลังอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อไหล่ หรือจากการเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อไหล่มากๆ ในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันที่ส่งผลให้เกิดการเสียดสีของเอ็นรอบข้อไหล่ เป็นการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ แต่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง เป็นๆหายๆ และสุดท้ายอาจส่งผลให้เอ็นไหล่ฉีกขาด (บางส่วนหรือทั้งหมด) (ตามรูป) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดไหล่มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ขยับข้อไหล่ได้น้อยลงเรื่อยๆ (เช่น ไม่สามารถถอดเสื้อยืดออกทางศีรษะได้)

  • ข้อไหล่อักเสบ เป็นการอักเสบของโครงสร้างที่ประกอบขึ้นเป็นข้อไหล่ ส่งผลให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อรอบเบ้าข้อไหล่ อาจเกิดตามหลังการบาดเจ็บของข้อไหล่มาก่อน ทั้งจากการบาดเจ็บ เล่นกีฬา หรือจากการทำงานที่ต้องใช้ข้อไหล่
  • ข้อต่อปุ่มหัวไหล่และกระดูกไหปลาร้าอักเสบ พบตามหลังการบาดเจ็บของข้อต่อปุ่มหัวไหล่และกระดูกไหปลาร้า หรือพบในผู้สูงอายุ อาจพบร่วมกับพยาธิสภาพเอ็นรอบข้อไหล่อักเสบหรือฉีกขาด

ข. พยาธิสภาพของกระดูกต้นคอ: ได้แก่

  • กระดูกต้นคอเสื่อม ส่งผลให้เกิดอาการปวดส่งต่อมายังบริเวณข้อไหล่ หรือเกิดจากการที่รากประสาทไขสันหลังถูกกดเบียดจากภาวะกระดูกต้นคอเสื่อม ทำให้เกิดอาการปวดร้าวตามรากประสาทลงมายังบริเวณไหล่ ส่วนใหญ่พบหลังอายุ 40 ปี ขึ้นไป
  • พยาธิสภาพอื่นๆของกระดูกต้นคอ: พยาธิสภาพอื่นๆของกระดูกต้นคอหรือรากประสาทและไขสันหลัง เช่นการติดเชื้อ หรือเนื้องอก อาจทำให้เกิดอาการปวดส่งต่อ หรืออาการปวดร้าวตามรากประสาทมาที่บริเวณไหล่ได้

ค. กล้ามเนื้อพังผืดรอบข้อไหล่อักเสบ: ได้แก่

  • พบบ่อยในเพศหญิง อายุ 30 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณสะบักด้านหลัง อาจมีอาการข้างเดียวหรือ 2 ข้าง อาจมีประวัติแบกของหรือสะพายเป้หนักๆมาก่อน หรือ หรือใช้คอมพิวเตอร์ (โดยเฉพาะโน้ตบุ๊ก)นานๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดสะบักข้างที่มีอาการ คลำพบกล้ามเนื้อแข็งตึง และมีจุดกดเจ็บที่ชัดเจนบริเวณสะบัก ถ้ากดจุดกดเจ็บแรงๆ จะมีอาการปวดร้าวไปที่ต้นคอด้านหลังหรือศีรษะ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ปวดไหล่

เมื่อมีอาการปวดไหล่ และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อแพทย์ตรวจหาสาเหตุ

แต่ควรรีบพบแพทย์เมื่อ อาการปวดไหล่รุนแรง ไหล่บวม อาจร่วมกับ แดง/ร้อนบริเวณไหล่ กดเจ็บบริเวณข้อไหล่ ข้อไหล่ติด และ/รือมีอาการชาแขน/มือร่วมด้วย

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุปวดไหล่อย่างไร?

เนื่องจากอาการปวดไหล่ เกิดจากหลายสาเหตุ การวินิจฉัย อาศัยการซักประวัติของอาการปวดไหล่ของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย รวมถึงการส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยสาเหตุ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่พยาธิสภาพที่แพทย์สงสัย กรณีแพทย์สงสัยพยาธิสภาพของข้อไหล่โดยตรงหรือพยาธิสภาพของกระดูกต้นคอ นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์ข้อไหล่ และ/หรือกระดูกต้นคอ ในกรณีที่พยาธิสภาพรุนแรง แพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์สนามแม่เหล็ก(เอมอาร์ไอ)ของกระดูกต้นคอหรือข้อไหล่ แต่ในกรณีสงสัยกล้ามเนื้อพังผืดรอบข้อไหล่อักเสบ แพทย์จะไม่ส่งตรวจเอกซเรย์

รักษาปวดไหล่อย่างไร?

กรณีถ้าพยาธิสภาพ เกิดจาก 3 สาเหตุข้างต้น (ไม่ใช่พยาธิสภาพที่รุนแรงอื่นๆ เช่นการติดเชื้อ เนื้องอก มะเร็ง) การรักษา มีจุดหมายเพื่อลดอาการปวด และเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวรอบข้อไหล่ การรักษาเบื้องต้น ประกอบด้วย

  • ปรับลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด
  • กรณีอักเสบเฉียบพลัน พักการใช้ข้อไหล่โดยใช้สลิงแขนในท่างอ 90 องศา
  • ลดอาการปวด ด้วยยาลดปวด/ยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบ หรือใช้วิธีทางกายภาพบำบัด เช่น ความร้อนตื้น/ประคบร้อน อัลตราซาวด์ชนิดเพื่อการรักษา
  • เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหว โดยการยืดกล้ามเนื้อด้วยการทำกายภาพบำบัด

จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่?

การผ่าตัดรักษากรณีปวดไหล่ ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของพยาธิสภาพ โดยทั่วไป แพทย์จะรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน อย่างน้อยประมาณ 3 เดือน เว้นแต่ผู้ป่วยมีพยาธิสภาพรุนแรงมาก ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด แพทย์จึงแนะนำการผ่าตัด

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อปวดไหล่ ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • พักการใช้งานข้อไหล่ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของ แพทย์/ นักกายภาพบำบัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการปวดไหล่เลวลงทั้งๆที่กินยา/ใช้ยา และปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว
  • มีอาการผิดปกติจากเดิม เช่น ไหล่บวม แดง ร้อน
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก วิงเวียนศีรษะมาก ปวดท้องมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ปวดไหล่มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในกรณีปวดไหล่ จะขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรงของพยาธิสภาพในแต่ละสาเหตุ และการตอบสนองต่อการรักษาโดยไม่ใช้การผ่าตัด ดังนั้น การพยากรณ์โรคจึงแตกต่างๆเป็นกรณีๆไป แต่ทั่วไป เป็นโรคที่แพทย์ให้การรักษาควบคุมอาการได้ แต่ยังต้องขึ้นกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อไหล่ของผู้ป่วยร่วมด้วย

ป้องกันอาการปวดไหล่อย่างไร?

อาการปวดไหล่ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย เพราะเป็นอาการที่เกิดได้จากการการเสื่อมของข้อไหล่ตามวัย และยังขึ้นกับอาชีพการงาน แต่พอจะยืดอายุการใช้งานข้อไหล่ได้ โดย ไม่ใช้งานข้อไหล่หนักเกินไป เช่น การยกของหนักเสมอ การใช้งานข้อไหล่อย่างหักโหม กรณีต้องใช้ข้อไหล่มากในการปฏิบัติงาน ควรใช้ข้อไหล่อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนมีอาการ หรือ รีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ