ปวดศีรษะเหตุเยื้อหุ้มสมองอักเสบ (Headache caused by meningitis)

สารบัญ

บทนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปวดศีรษะไมเกรน (Migraine) และปวดศีรษะจากความเครียด (Tension typed headache) ผู้ป่วยปวดศีรษะส่วนน้อยมีสาเหตุจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่อันตราย ถ้าให้การวินิจฉัยหรือรักษาล่าช้า ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตหรือมีผลข้างเคียง (ภาวะแทรกซ้อน) ได้ เราจึงควรต้องทราบว่าตนเองมีอาการปวดศีรษะจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไม่

เยื่อหุ้มสมองอักเสบคืออะไร?

ปวดศีรษะเหตุเยื้อหุ้มสมองอักเสบ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) คือ โรคที่มีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง โดยอาจมีสา เหตุทั้งจากภาวะติดเชื้อ (Infectious meningitis หรือ Septic meningitis) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมีเพียงส่วนน้อยเกิดจากภาวะไม่ติดเชื้อ (Aseptic meningitis)

เยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบติดเชื้อ หรือ เยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ มีสาเหตุจากอะไร?

เยื่อหุ้มสมองอักเสบติดเชื้อมีสาเหตุพบบ่อยที่ควรทราบ คือ

  • ติดเชื้อพยาธิ (Eosinophilic meningitis)
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial meningitis)
  • ติดเชื้อวัณโรค (Tuberculous meningitis)
  • ติดเชื้อรา (Cryptococcal meningitis)

1. ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อพยาธิ (Eosinophilic meningitis)

ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อพยาธิ คือ ภาวะที่เยื่อหุ้มสมองมีการติดเชื้อพยาธิ โดยเชื้อพยาธิที่พบบ่อยที่สุด คือ เชื้อพยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) จากผู้ป่วยทานหอยน้ำจืด ซึ่งมีตัวอ่อนของพยาธิอาศัยอยู่

อาการของผู้ป่วย คือ มีอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน คือ ปวดศีรษะร้ายแรงภาย ใน 1-7 วัน ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ ซึ่งอาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย เช่น อาเจียน ตาพร่ามองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน ปวดตึงต้นคอ ก้มคอไม่ลง/คอแข็ง

แพทย์ตรวจร่างกาย จะพบผู้ป่วยมี คอแข็งตึง ไม่มีไข้ (95%) จานประสาทตาบวม (Papilledema) เส้นประสาทสมองคู่ที่ 6 อัมพาต/ตาเหล่ (Cranial nerve 6 palsy)

แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติมโดยการเจาะหลัง เพื่อตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid:CSF) ซึ่งจะพบ

  • เซลล์เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น (เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มีเม็ดสีในเซลล์ เรียก ชื่อเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ว่า อีโอสิโนฟิล/Eosinophil)
  • มีความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูงขึ้น
  • และเมื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลใน CSF เมื่อเปรียบเทียบกับระดับน้ำตาลในเลือด จะอยู่ในอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 0.6 และมีระดับโปรตีนใน CSF สูงขึ้นไม่มาก
  • และตรวจไม่พบเชื้อก่อโรคอื่นๆ

การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันนี้คือ การระบาย CSF ออกเพื่อลดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะ บางการศึกษาพบว่า การให้ยาสเตียรอยด์ก็สามารถลดอาการปวดศีรษะลงได้ แต่ยังไม่มีตัวยาที่ฆ่าพยาธินี้ได้ นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ

2. ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial meningitis)

ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อแบคทีเรีย คือ ภาวะที่เยื่อหุ้มสมองเกิดการติดเชื้อแบคที เรีย ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องแยกการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ออกจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดวัณโรค เพราะลักษณะการดำเนินโรค อาการ วิธีวินิจฉัย และการรักษาแตกต่างกัน

เชื้อแบคทีเรียอื่นๆที่ไม่ใช่วัณโรค จะมีการดำเนินโรคแบบรวดเร็ว อันตรายสูงมาก ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ช้า อาจเสียชีวิตได้

การติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆที่ไม่ใช่วัณโรค จะเกิดจากการติดเชื้อโดยตรงที่เยื่อหุ้มสมอง หรือมีการติดเชื้อในเลือด/ในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) แล้วเชื้อกระจายไปที่เยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง (ปวดศีรษะร้ายแรง) ภายใน 1-7 วัน ส่วนใหญ่ภายใน 1-3 วัน ร่วมกับมีไข้สูง ร่วมกับ อาเจียน ตาพร่ามัว ปวดตึงต้นคอ/คอแข็ง และอาจซึมลง

เมื่อแพทย์ตรวจร่างกาย จะพบไข้สูง คอแข็งตึง เจาะตรวจ CSF (เจาะหลัง) จะพบ -เม็ดเลือดขาวสูงหลายร้อยถึงพันเซลล์ เม็ดเลือดขาวส่วนใหญ่จะเป็นชนิดที่เรียกว่านิวโทรฟิล (Neutrophil, เม็ดเลือดขาวที่บอกการติดเชื้อแบคทีเรีย)

  • อาจย้อมพบเชื้อแบคทีเรียใน CSF
  • อัตราส่วนค่าน้ำตาลใน CSF ต่อค่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 40%
  • และระดับโปรตีนใน CSF สูงขึ้นมากกว่าปกติ

เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ที่ก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Streptococcus pneumonia, Klebsiella pneumonia และในผู้สูงอายุ หรือ ผู้ดื่มสุราเรื้อรังมานาน เชื้อที่พบ เช่น Listeria monocytogenase เป็นต้น

การรักษาเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช่วัณโรค คือ การให้ยาต้านจุลชีพนาน 2-3 สัปดาห์ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

3. ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อวัณโรค (Tuberculous meningitis)

ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อวัณโรค คือ ภาวะที่เยื่อหุ้มสมองมีการติดเชื้อแบคทีเรียวัณโรค โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง (ปวดศีรษะร้ายแรง) แบบกึ่งเฉียบพลัน (คือปวดศีรษะต่อเนื่องนานประมาณ 1-3 สัปดาห์) หรือแบบเรื้อรัง (คือปวดศีรษะต่อเนื่องมากกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป) ร่วมกับมีไข้ (ไข้มักไม่สูงมาก) อ่อนเพลีย อาเจียน ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน อาจพบจานประสาทตาบวม อาจพบมีอัมพาตของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 6 (ตาเหล่)

การสืบค้น ด้วยการเจาะตรวจ CSF (เจาะหลัง) จะพบ

  • เม็ดเลือดขาวสูงขึ้นหลายร้อยเซลล์ โดยส่วนใหญ่มักเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lym phocyte, เม็ดเลือดขาวชนิดบอกการอักเสบเรื้อรัง)
  • ส่วนใหญ่ย้อม CSF แล้วไม่พบเชื้อ
  • อัตราส่วนค่าน้ำตาลใน CSF ต่อค่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 40%
  • ระดับโปรตีนใน CSF สูงขึ้นกว่าปกติมาก

การรักษา คือ การให้ยาต้านวัณโรคนาน 6-9 เดือน ร่วมกับการรักษาประคับประ คองตามอาการ

4. ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อรา (Cryptococcal meningitis)

ภาวะเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อรา คือ ภาวะที่เยื่อหุ้มสมองมีการติดเชื้อรา ที่พบบ่อยคือ จากเชื้อ Cryptococcus neoformans โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์หลังจากเริ่มมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่องนานประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นไป มีอาการปวดศีรษะร่วมกับมีไข้ (ไข้มักไม่สูงมาก) อาเจียน ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน พบจานประสาทตาบวมได้บ่อย และมีอัมพาตของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 6 (ตาเหล่)

การสืบค้นด้วยการเจาะตรวจ CSF (เจาะหลัง) พบ

  • เม็ดเลือดขาวสูงขึ้นหลายร้อยเซลล์ เม็ดเลือดขาวส่วนใหญ่มักเป็นชนิดลิมโฟไซต์ (Lympho cyte)
  • และส่วนใหญ่เมื่อย้อม CSF ด้วยหมึกอินเดีย (India ink) จะพบเชื้อรา
  • อัตราส่วนค่าน้ำตาลใน CSF ต่อค่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 40%
  • และระดับโปรตีนใน CSF สูงขึ้นแต่ไม่สูงเท่ากับในการติดเชื้อวัณโรค

เยื่อหุ้มสมองติดเชื้อรา พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาคือ การให้ยาต้านเชื้อรานานประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องได้รับยาป้องกันการเกิดเป็นซ้ำไปตลอดชีวิต และร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

ปวดศีรษะแบบใดที่ควรสงสัยเป็นเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ?

ลักษณะสำคัญของปวดศีรษะจากเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ คือ

  • มีอาการปวดศีรษะแบบรุนแรง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง อาการปวดศีรษะร้ายแรง) จากมีอาการของความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูงขึ้น (Increased intracranial pressure) คือ ปวดศีรษะมากร่วมกับ อาเจียน ตาพร่ามัว และ/หรือมองเห็นภาพซ้อน
  • คอแข็ง ปวดตึงต้นคอ ไม่สามารถก้มคอให้คางชิดหน้าอกได้ (Stiffness of neck)
  • ปวดศีรษะร่วมกับมีไข้ โดยอาจเป็นได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ
 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ?

ผู้ที่มีโอกาสเกิดการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองได้สูง คือ

  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง/โรคเอดส์ (AIDS) ทานยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง ทานยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • มีประวัติประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ มีกะโหลกศีรษะแตกร้าว หรือ ผ่าตัดสมอง
  • ผู้ป่วยติดเชื้อบริเวณ ช่องหู (หูน้ำหนวก) โพรงไซนัส (ไซนัสอักเสบ) ใบหน้า ลิ้นหัวใจ (โรคลิ้นหัวใจ)
 

ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ รักษาหายเป็นปกติหรือไม่?

ผลการรักษาผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่การรักษาได้ผลดี และกรณีผู้ ป่วยมาพบแพทย์เร็ว ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทันเวลา ก็จะหายดีเป็นปกติ ยกเว้นผู้ป่วยโรคเอดส์ติดเชื้อรานั้น ต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำไปตลอดชีวิต

รักษาเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ ต้องนอนโรงพยาบาลนานเท่าไหร่?

การนอนรักษาในโรงพยาบาลนั้นขึ้นกับชนิดของเชื้อ เช่น

  • ติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆนั้น ต้องให้การรักษาด้วยการฉีดยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือดดำนาน 2-3 สัปดาห์ ก็ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลตลอดเวลาที่รักษา
  • ติดเชื้อวัณโรคอาจนอนโรงพยาบาลเพียง 1 สัปดาห์ เพราะต้องประเมินผลการรัก ษาว่าตอบสนองดีหรือไม่ มีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาหรือไม่ และจำเป็นต้องเจาะระบาย CSF หรือไม่
  • ติดเชื้อพยาธินั้น อาจนอนโรงพยาบาลเพียง 3-5 วันเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่แล้วหลังการเจาะระบาย CSF ออก อาการปวดศีรษะก็ดีขึ้นมาก
  • ติดเชื้อรานั้นการรักษาช่วง 2 สัปดาห์แรก ต้องให้ยาต้านเชื้อราทางหลอดเลือดดำ และต้องเจาะระบาย CSF ออก จึงต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนานประมาณ 2-3 สัปดาห์
 

เยื่อหุ้มสมองติดเชื้อมีผลข้างเคียงอย่างไร?

การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่ได้ผลดี แต่ถ้าการรักษานั้นล่าช้า เพราะผู้ป่วยมาช้า หรือได้รับการวินิจฉัยล่าช้าเพราะอาการไม่ชัดเจน ก็ส่งผลต่อโอกาสการหาย นอกจากนี้ คือโรคประจำตัว และในผู้สูงอายุ ถ้าผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ตับวาย ไตวาย โรคมะเร็ง โรคเอดส์ และ/หรือ ได้รับยาสเตียรอยด์ และ/หรือยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และ/หรือกรณีที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมกับอาการปวดศีรษะรุนแรง (ปวดศีรษะร้ายแรง) ร่วมกับ อาการ ชัก ซึม และ/หรือ มีแขน-ขาอ่อนแรง ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการรักษาให้ได้รับผลไม่ดี อาจหายแต่ไม่เป็นปกติ เช่น ยังมีปากเบี้ยว หรือ แขน-ขาอาจยังอ่อนแรงอยู่

เยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ กลับเป็นซ้ำได้ไหม?

โอกาสการกลับเป็นซ้ำของเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อพบได้ไม่บ่อย แต่บางกรณี เช่น

การติดเชื้อพยาธิจากการทานอาหารดิบ ถ้าผู้ป่วยยังไม่เลิกทานอาหารดิบ ก็มีโอ กาสการกลับเป็นซ้ำได้สูง หรือ

กรณีผู้ป่วยมีความผิดปกติทางด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ได้รับยาเคมีบำบัด ยากดภูมิต้านทาน ทานยาสเตียรอยด์ หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ ก็มีโอกาสการกลับเป็นซ้ำได้สูง

ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จึงต้องปฏิบัติตนตามแพทย์-พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด และในผู้ป่วยบางราย เช่น ในผู้ป่วยโรคเอดส์ จะต้องได้รับการทานยาป้องกันการกลับเป็นซ้ำของเชื้อราตลอดชีวิตเสมอ

เยื่อหุ้มสมองติดเชื้อติดต่อได้ไหม?

การติดต่อของโรคเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อนั้น การติดต่อจากคนสู่คนยังไม่มีรายงาน ถึงแม้จะเป็นจากเชื้อวัณโรคก็ตาม เพราะเชื้อที่อยู่ที่เยื่อหุ้มสมองนั้นมีปริมาณน้อยมาก และไม่สามารถติดต่อทางการสัมผัสหรือการหายใจได้

นอกจากนั้นการติดต่อไปยังอวัยวะอื่นๆก็เป็นไปได้ยาก ส่วนมากมักจะเกิดจากการติดต่อจากระบบอื่นๆของร่างกายและกระจายมาที่ระบบประสาท/ที่เยื่อหุ้มสมองมากกว่า เช่น

  • จากการติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจและกระจายมาที่เยื่อหุ้มสมองหรือที่สมอง
  • หรือ การติดเชื้อวัณโรคที่ปอดและกระจายมายังเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น
 

ป้องกันเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อได้อย่างไร?

การป้องกันการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองนั้น สามารถทำได้ คือ

  • การทานอาหารสุก ไม่ทานอาหารดิบ
  • ถ้ามีแผลบริเวณศีรษะหรือใบหน้า อย่าแกะ เพราะอาจเป็นทางติดเชื้อเข้าสู่สมองได้
  • ดูแลตนเองให้แข็งแรงโดยรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และ
  • ถ้ามีอาการปวดศีรษะที่สงสัยว่าจะมีรอยโรคในสมอง (ปวดศีรษะเหตุรอยโรคในสมอง) หรือสงสัยมีอาการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
 

เยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่ติดเชื้อ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่ติดเชื้อมีสาเหตุจากอะไร?

ภาวะ/โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่ติดเชื้อ เกิดจาก

  • โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disorder)
  • จากผลข้างเคียงจากยา เช่น กลุ่มยาแก้ปวดชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาเอ็นเสด์/NSAIDs) โดยเฉพาะการใช้ยาในผู้สูงอายุ

ส่วนใหญ่แล้วภาวะนี้ ไม่มีอันตราย เมื่อให้การรักษาสาเหตุ หรือหยุดยาที่เป็นสา เหตุ อาการก็หายเป็นปกติ ในระยะเวลา 1- 2 สัปดาห์

เยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่ติดเชื้อมีผลข้างเคียงไหม?

เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อนั้น มีผลข้างเคียงจากโรคน้อยมาก มักไม่เกิด ผลข้างเคียงแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหมือนกับกลุ่มที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกิดจากการใช้ยา ถ้าหยุดยาชนิดนั้นๆก็ไม่มีผลต่อเนื่องใดๆ

กรณีที่เกิดจากโรคออโตอิมมูนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุว่าสามารถรักษาควบคุมความรุนแรงของโรคได้ดีเพียงใด ถ้าโรคนั้นไม่สามารถควบคุมได้ ยังมีความรุนแรงของโรคสูง อาการจากเยื่อสมองอักเสบ ก็มีโอกาสที่จะรุนแรงขึ้นได้ และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการชัก อาการแขน-ขาอ่อนแรง ซึม สับสนได้ รวมทั้งอาจมีอาการกลับเป็นซ้ำได้

ป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่ติดเชื้อได้อย่างไร?

การป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการไม่ติดเชื้อ คือ

  • การทานยาต่างๆเท่าที่จำเป็น ไม่ควรทานยาที่ไม่เคยทานมาก่อน
  • ถ้ามีโรคประจำตัวก็ต้องหมั่นรักษาให้ต่อเนื่องและ
  • ถ้ามีอาการผิดปกติใดๆ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วันหลังการดูแลรักษาตนเอง แต่ถ้าอาการเลวลง ก็รีบไปโรงพยาบาลไม่ต้องรอ
 

เมื่อมีอาการปวดศีรษะ เมื่อไรควรต้องไปโรงพยาบาล?

อาการปดศีรษะที่ควรต้องรีบไปโรงพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินถ้าอาการรุนแรงมาก คือ

  • เมื่อมีอาการปวดศีรษะที่เป็นลักษณะของกลุ่มที่น่าจะมีรอยโรคในสมอง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ปวดศีรษะเหตุรอยโรคในสมอง) เช่น ปวดศีรษะรุนแรง (ปวดศีรษะร้าย แรง)
  • อาการปวดศีรษะรุนแรงเป็นขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อน
  • ปวดศีรษะที่อาจร่วมกับ ซึม มีไข้ แขน-ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว ชัก
  • ปวดศีรษะ เป็นๆหายๆ แต่อาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
  • อาการปวดศีรษะไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่เคยตอบสนองดี และ
  • ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือ ทานยาละลายลิ่มเลือด ถ้ามีอาการปวดศีรษะแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก็ต้องรีบพบแพทย์ หรือ ไปโรงพยาบาลฉุก เฉินเช่นเดียวกัน
 

ดูแลตนเองเบื้องต้นอย่างไรก่อนไปโรงพยาบาล?

เมื่อมีอาการปวดศีรษะ การดูแลตนเองเบื้องต้นก่อนไปโรงพยาบาล คือ

  • การทานยาลดไข้กรณีมีไข้ และควรบอกแพทย์ด้วยว่าเราได้ทานยาลดไข้มาก่อนแล้ว
  • ถ้ามียาที่ทานเป็นประจำหรือมีโรคประจำตัว ควรนำยาที่ทานและประวัติการรักษาประจำมาด้วย
  • ไม่ควรทานยาแก้ปวดชนิดแรงๆ เช่น มอร์ฟีน เพราะจะบดบังอาการ ทำให้มาพบแพทย์ล่าช้าไป
  • ควรสังเกตอาการว่า ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ มีอาการชักหรือความผิด ปกติทางระบบประสาทอื่นๆเพิ่มเติมหรือไม่ (เช่น ปากเบี้ยว แขน-ขาอ่อนแรง) ซึ่งถ้ามีอา การเหล่านี้ที่รุนแรง ควรแจ้งให้รถพยาบาล ไปรับตัวมาโรงพยาบาลก็ได้ เพื่อที่จะได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นที่เหมาะสม

*****อนึ่ง โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินเบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรดูแลตนเองที่บ้านอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว คือ

  • การทานยาที่แพทย์ให้กลับไปรักษาที่บ้านอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
  • หมั่นสังเกตตนเองว่ามีผลเสีย/ผลข้างเคียงจากการรักษาหรือไม่ เช่น อาการแพ้ยา อาเจียน ทานอาหารไม่ได้ รวมทั้งสังเกตว่า อาการปวดศีรษะที่มีนั้นดีขึ้นหรือไม่ หรือรุนแรงมากขึ้น มีอาการสับสน หรือซึมลงหรือไม่ ซึ่งถ้าอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ อาการเลวลง ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด หรือไปโรงพยา บาลฉุกเฉินถ้าอาการรุนแรง
  • สิ่งที่ต้องระวังคือ การยกของหนัก การเบ่งถ่ายอุจจาระ/ท้องผูก หรือการออกแรงมากๆ เพราะอาจทำให้มีการเพิ่มความดันของโพรงกะโหลกศีรษะได้ และอาจทำให้มีการรั่วของ CSF ออกมาได้จากรูที่เจาะระบายไว้ในช่วงตรวจ-รักษา ทำให้มีอา การปวดศีรษะรุนแรงใหม่ได้
  • ในกรณีที่มีการรักษาอื่นๆ เช่น การฝังท่อระบาย CSF จากช่องในสมองลงสู่ช่องท้อง ก็ต้องหมั่นสังเกตว่าตนเองมี ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) หรือไม่ เช่น อา การปวดศีรษะรุนแรงขึ้น แผลที่ผ่าตัดไว้มีน้ำหรือเลือดซึมหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องไปโรง พยาบาลก่อนนัดหริอฉุกเฉิน ตามความรุนแรงของอาการ
  • เมื่อมีอาการผิดปกติ หรืออาการเลวลง หรือมีข้อสงสัยใดๆ ต้องรีบติดต่อกลับโรง พยาบาล หรือรีบพบแพทย์ก่อนนัด หรือถ้าอาการรุนแรงก็ต้องไปโรงพยาบาลฉุก เฉิน
 

ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะรุนแรง (ปวดศีรษะร้ายแรง) อาเจียน ตาพร่ามัว ชัก อ่อนแรง หรือมีอาการแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ทางระบบประสาทใดๆก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ การรักษาอาจเกิดผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากยาที่ใช้รักษา เช่น การแพ้ยา ตับอักเสบ ทานอาหารไม่ได้ ก็ควรต้องรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด เช่นกัน รวมทั้งในภาวะผิดปกติต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อ การดูแลตนเองที่บ้านด้วย

สรุป

อาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อนั้นเป็นภาวะที่อันตราย อาจส่งผลให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นท่านต้องหมั่นสังเกตว่า อาการปวดศีรษะของท่านนั้น มีลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งถ้าสงสัยให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลทันที เพราะการให้การวินิจฉัยที่รวดเร็ว จะช่วยทำให้ผลการรักษานั้นดี มีภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง) ต่ำ โอกาสรักษาได้หายเป็นปกติก็จะสูงขึ้น