ปลูกไต ปลูกชีวิต (ตอนที่ 1)

ปลูกไตปลูกชีวิต

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “มอบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยโรคไต” ว่า รพ.จุฬาฯ ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด ด้วยเทคนิคล้างน้ำเหลืองไม่ทำลายภูมิคุ้มกันทั้งหมดเป็นรายแรกในอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์

ด้าน ศ.นพ.ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ รองหัวหน้าหน่วยโรคไต ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ และผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายว่า ตามปกติในเลือดและน้ำเหลืองของคนจะมีภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ เมื่อมีการปลูกถ่ายไตภูมิคุ้มกันร่างกายก็จะทำลายไตที่เข้าไปใหม่ ที่ผ่านมาจึงจำเป็นต้องใช้ไตจากผู้บริจาคที่มีหมู่เลือดเข้ากันได้กับผู้รับบริจาค

แต่สำหรับการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดจะใช้วิธีการกำจัดแอนติบอดี้ ชนิดที่เป็นตัวป้องกันความแตกต่างของหมู่เลือดออกไปทั้งหมด ซึ่งพบว่ามีเพียงร้อยละ 1 ของภูมิคุ้มกันทั้งหมดของร่างกาย โดยผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด ซึ่งสามารถล้างเอาเพียงภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่อต้านการข้ามหมู่เลือดออกมา ทำให้ไม่ต้องทำลายภูมิคุ้มกันทั้งหมด

ศ.นพ.ยิ่งยศ กล่าวว่า การปลูกถ่ายไตข้ามหมูเลือดนี้จะสามารถช่วยคนไข้ไตวายเรื้อรังเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 20 อย่างเช่น การปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสที่สมเด็จพระเทพฯ มีพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ปลูกถ่ายไตครบ 600 คน หากนำวิธีการนี้เข้าไปดำเนินการด้วยก็จะปลูกถ่ายไตได้เพิ่มขึ้นอีก 120 คน จะช่วยคนไข้ได้ 720 คน

ศ.นพ.ยิ่งยศ กล่าวอีกว่า คนไข้ปลูกถ่ายไตนี้จะต้องเป็นคนไข้ไตวายเรื้อรังที่มีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะทนต่อการผ่าตัดใหญ่ได้ โดยทีมแพทย์จะประเมินคนไข้ก่อน รวมทั้งต้องได้รับยากดภูมิระหว่างการฟอกเลือด หากคนไข้มีความพร้อมตามที่แพทย์ประเมินและมีผู้บริจาคไตให้ ก็จะสามารถปลูกถ่ายไตด้วยวิธีนี้ได้

อย่างไรก็ดี ศ.นพ.ยิ่งยศ ชี้แจงอีกว่า ตามกฎหมายของประเทศไทย กรณีที่ผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่จะต้องเป็นญาติโดยสายเลือดเท่านั้น

เมื่อมีภาวะไตวาย ทางเลือกในการรักษาสามารถทำได้โดย

  1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
  2. การฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis)
  3. การปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation)

แหล่งข้อมูล

1. รพ.จุฬาฯปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด. http://www.thairath.co.th/content/601788 [2016, April 15].

2. รพ.จุฬาฯ ปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดรายแรกในอาเซียน. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000035020 [2016, April 15].

3. Kidney Transplant. https://www.kidney.org/atoz/content/kidneytransnewlease [2016, April 15].