“ปลูกถ่ายอวัยวะ” ความหวังที่รอคอย (ตอนที่ 5)

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะทำได้น้อยมาก ขาดแคลนอวัยวะบริจาคอย่างมาก เนื่องจากคนไทยบริจาคอวัยวะน้อยมาก ในขณะที่ต่างประเทศ เช่นในยุโรป มีผู้บริจาคอวัยวะ 20-30 ต่อประชากรล้านคน

การบริจาคเนื้อเยื่อของคนเพียงคนเดียวสามารถใช้ปลูกถ่ายอวัยวะได้ถึง 60 จุด ซึ่งขึ้นกับ 3 ปัจจัย อันได้แก่ 1) ความสามารถในการกู้คืนเนื้อเยื่อจากผู้บริจาคที่หัวใจหยุดเต้นแล้ว 2) ความสามารถในการเก็บรักษาเนื้อเยื่อ และ 3) จำนวนเนื้อเยื่อที่ได้รับจากผู้บริจาคแต่ละคน ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อมากกว่าการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยธนาคารเนื้อเยื่อของอเมริกา (The American Association of Tissue Banks) ได้ประเมินว่า ในแต่ละปีมีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อมากกว่า 1 ล้านครั้ง ในสหรัฐอเมริกา

ในผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ มักเป็นการบริจาคอวัยวะกรณีส่วนที่เหลืออยู่สามารถงอกขึ้นมาได้ใหม่ หรืออวัยวะที่เหลือสามารถทำงานแทนได้ เช่น การบริจาคไต 1 ข้าง การบริจาคบางส่วนของตับ กลีบปอด ลำไส้เล็ก ในอนาคตข้างหน้าการแพทย์เชิงฟื้นฟู (Regenerative medicine) อาจมีการเพาะเลี้ยงอวัยวะในห้องทดลอง ใช้เซลล์ของผู้ป่วยเองผ่านสเต็มเซลล์ หรือใช้การดึงเซลล์ที่ดีออกจากอวัยวะที่เสื่อมก็เป็นได้

ในผู้บริจาคที่เสียชีวิตและมีการระบุจากแพทย์ว่าสมองตายแล้ว จะมีการเก็บอวัยวะต่างๆ โดยใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องมือต่างๆ เลี้ยงไว้จนกว่าจะสามารถผ่าอวัยวะออกไปทำการปลูกถ่าย นอกจากผู้บริจาคที่สมองตายแล้ว ก็มีการรับบริจาคจากผู้ที่ระบบไหลเวียนในร่างกายหยุดทำงานแล้ว (Circulatory Death Donors) เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายน้อยกว่ากรณีที่สมองตาย

สมาคมการปลูกถ่ายนานาชาติ (International transplantation society) ได้พยายามหาข้อมูลต่างๆ เช่น จำนวน อัตรา และผลของการปลูกถ่าย เป็นต้น ของทั้งโลก แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้ก็คือการประมาณ โดยมีการประมาณการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศ/ทวีปต่างๆ ปีพ.ศ.2543 ดังนี้

ไต (pmp*) ตับ (pmp) หัวใจ (pmp)
อเมริกา 52 19 8
ยุโรป 27 10 4
ตุรกี 11 3.5 1
เอเชีย 3 0.3 0.03
ละตินอเมริกา 13 1.6 0.5

*ตัวเลขมีหน่วยต่อประชากรล้านคน

แหล่งข้อมูล:

  1. ไทยขาดแคลนอวัยวะบริจาค เผยยอดผู้ป่วยจ่อคิวกว่า 3,500 ราย http://www.thairath.co.th/content/edu/370724 [2013, October 1].
  2. Organ transplantation. http://en.wikipedia.org/wiki/Organ_transplantation [2013, October 1].