ปราวาสแตติน (Pravastatin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาปราวาสแตติน(Pravastatin หรือ Pravastatin sodium) เป็นยารักษาโรคไขมันในเลือดสูง จัดอยู่ในกลุ่มยา สแตติน(Statin) ยานี้มีคุณสมบัติลดระดับไขมันแอลดีแอล (LDL Cholesterol) และไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และยังช่วยเพิ่มระดับไขมันดีที่เรียกว่า เอชดีแอล (HDL Cholesterol) นอกจากนั้น ยาปราวาสแตตินยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณหัวใจอีกด้วย

รูปแบบผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันของยาปราวาสแตตินเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้จะกระจายข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 18% จากนั้นจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 50% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดผ่านทางตับและไต

ยาปราวาสแตติน สามารถใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป แต่ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สมควรได้รับยานี้ เช่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับ ระหว่างที่ได้รับยานี้แล้วทราบว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อ ขอหยุดการใช้ยานี้และปรับแผนการรักษาใหม่

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจได้รับคำถามเกี่ยวกับประวัติโรคประจำตัวที่อาจจะได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาปราวาสแตติน เช่น ผู้ป่วย โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ ด้วยยานี้สามารถทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตและโรคต่อมไทรอยด์ และรวมถึงกับผู้สูงอายุอีกด้วย

การดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ก็จะเป็นเหตุให้เกิดภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ซึ่งเป็นผลตรงกันข้ามกับผลที่ควรได้รับจากยาปราวาสแตติน จึงถือเป็นข้อห้ามบริโภคร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ได้รับยาปราวาสแตติน แพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ต้องหยุดการใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่ง เช่น

  • พบว่าผู้ป่วยมีอาการชักที่ยากต่อการใช้ยาควบคุม
  • มีสารอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในเลือดเพิ่มหรือลดลงต่ำผิดปกติ
  • เกิดความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
  • มีภาวะติดเชื้อ
  • ต้องเข้ารับการผ่าตัด

ประวัติการใช้ยาชนิดอื่นๆของผู้ป่วย ก็เป็นข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งที่แพทย์ต้องนำมาประกอบพิจารณาในการสั่งจ่ายยาปราวาสแตติน โดยผู้ที่มีการใช้ยาดังต่อไปนี้ เช่นยา Colchicine, Cyclosporine, Azithromycin, Clarithromycin , Erythromycin, Gemfibrozil, Fenofibric acid, Fenofibrate, และ Niacin, ยาที่กล่าวมา เมื่อใช้ร่วมกับยาปราวาสแตติน อาจก่อให้เกิดปัญหาการทำงานของกล้ามเนื้อขึ้นได้

ผู้ป่วยที่จะได้รับยาปราวาสแตติน จะได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า ยานี้สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆได้มากมาย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เอ็นอักเสบ ปวดข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีไข้ ปัสสาวะมีสีเข้ม เจ็บหน้าอก ปวดท้อง เบื่ออาหาร ตัวเหลืองตาเหลือง ปวดศีรษะ หรือมีอาการคล้ายเป็นหวัด เป็นต้น

การใช้ยาปราวาสแตตินให้ได้ประโยชน์สูงสุด ยังต้องพึ่งการจำกัดอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน น้ำตาล รวมถึงต้องมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้จัดให้ยาปราวาสแตตินอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ และห้ามมิให้ผู้ป่วยซื้อหามารับประทาน หรือ ปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง

มีข้อมูลอีกหลายอย่างของยาปราวาสแตติน ที่ไม่ได้นำมากล่าวได้ทั้งหมดในบทความนี้ หากผู้บริโภคต้องการข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือเภสัชกรตามร้านขายยาได้ทั่วไป

ปราวาสแตตินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ปราวาสแตติน

ยาปราวาสแตตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการโรคไขมันในเลือดสูง โดยลดไขมันชนิดแอลดีแอล (LDL) และ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และยานี้ยังสนับสนุนให้ร่างกายเพิ่มไขมันชนิดที่ เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างเฮชดีแอล (HDL) ด้วย
  • ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

ปราวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาปราวาสแตตินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายที่มีชื่อว่า HMG-CoA reductase (3-hydroxy-3-methylglutaryl-coenzyme A reductase ย่อว่า HMGCR) ซึ่งเอนไซม์นี้มีส่วนสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในร่างกาย จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL Cholesterol) และไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในเลือดลดลง นอกจากนี้ยาปราวาสแตติน ยังสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มไขมันชนิดดีหรือที่เรียกว่าเอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDL Cholesterol) ในเลือดอีกด้วย จากขั้นตอนต่างๆที่กล่าวมา จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ปราวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาปราวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10,20,40,และ 80 มิลลิกรัม/เม็ด

ปราวาสแตตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาปราวาสแตตินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 10 – 40 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง ซึ่งแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานทุกๆ 4 สัปดาห์ตามการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 8–13 ปี: รับประทาน 10 – 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • เด็กอายุ 14–18 ปี: รับประทาน 10 – 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหาร ก็ได้
  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ที่มีความรุนแรงโรคระดับปานกลางจนถึงขั้นรุนแรง แพทย์อาจเริ่มใช้ยานี้ในขนาดน้อยๆก่อน เช่น 10 มิลลิกรัม/วัน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด แพทย์จะให้การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น โดยยังไม่มียาแก้พิษยานี้
  • ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจเลือด ดูระดับไขมันในเลือดตามแพทย์สั่งทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาปราวาสแตติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ โรค กล้ามเนื้อ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาปราวาสแตติน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาปราวาสแตติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาปราวาสแตติน ตรงเวลา

ปราวาสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาปราวาสแตตินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น.

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก ท้องเสีย ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะเต้านมโตขึ้นในผู้ชาย (Gynaecomastia)
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น เช่น เอนไซม์ทรานซามิเนส (Transaminase) ตับอักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อมาก กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน และอาจพบภาวะ Stevens-Johnson syndrome

มีข้อควรระวังการใช้ปราวาสแตตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาปราวาสแตติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาปราวาสแตติน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยยานี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยานี้สามารถซึมผ่านทางน้ำนมของมารดาและเข้าสู่ทารกได้
  • ห้ามหยุดรับประทานหรือรับประทานยานี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆด้วยตนเอง การปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง จะส่งผลต่อการรักษา รวมถึงอาการข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดตามมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง หรือผู้ที่มีเอนไซม์อะมิโนทรานสเฟอเรส (Aminotransferase, เอนไซม์การทำงานของตับ)ในเลือดสูงโดยมิทราบสาเหตุ
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา Gemfibrozil, Fusidic acid
  • ห้ามดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะที่ใช้ยานี้ ด้วยจะเป็นเหตุให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมาก
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที ถ้าพบอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง หรือ ใบหน้า-คอ–ปากมีอาการบวม หากเกิดอาการเหล่านี้เมื่อใช้ยานี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับและ/หรือโรคไต ด้วยอาจเป็นเหตุให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ เพราะจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มวัยอื่น
  • เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยานี้ ระหว่างใช้ยานี้ ควรต้อง ควบคุมอาหาร มีการออกกำลังกาย มีการพักผ่อนให้เหมาะสม โดยเป็นไปตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจเลือดดูระดับไขมันในเลือด และแพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยานี้ให้สอดคล้องกับระดับไขมันในเลือด และกับอาหารของผู้ป่วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาปราวาสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ปราวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาปราวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาปราวาสแตตินร่วมกับยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาปราวาสแตตินร่วมกับยา Colestyramine อาจทำให้ระดับยาปราวาสแตติน ในกระแสเลือดลดลงซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปราวาสแตตินร่วมกับยา Fenofibrate, Clofibrate การใช้ยาร่วมกัน จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับถูกทำลาย/ตับอักเสบ และบางครั้งยังส่งผลทำให้กล้ามเนื้อลายสลายได้อีกด้วย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาปราวาสแตตินร่วมกับยา Cyclosporine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตามมา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาปราวาสแตตินอย่างไร?

ควรเก็บยาปราวาสแตตินในช่วงอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ปราวาสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาปราวาสแตตินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mevalotin Protect (เมวาโลติน โพรเท็ก)Daiichi Sankyo

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Pravachol, Prastatin, Pravator

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Statin [2016,Oct29]
  2. https://www.drugs.com/pravastatin.html [2016,Oct29]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Pravastatin [2016,Oct29]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pravastatin/?type=brief&mtype=generic [2016,Oct29]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/mevalotin%20protect/?type=brief [2016,Oct29]