ประเภทเครื่องสำอาง (Cosmetic product category)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ซึ่งได้รับการปรับแต่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎข้อบังคับมาจนปัจจุบัน ระบุว่า ‘เครื่องสำอาง’ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย หรือทำให้เกิดความสวยงามบนเรือนร่างของมนุษย์ การบังคับของกฎหมายกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ครอบคลุมทั้งเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศและเครื่องสำอาง ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

กฎหมายไทยในอดีตที่ผ่านมาได้จัดแบ่งเครื่องสำอางออกเป็น หมวดหมู่/”ประเภทเครื่องสำอาง(Cosmetic product category)” 3 ประเภท คือ

1. เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ: เป็นเครื่องสำอางที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายหรือมีส่วนประกอบของสารที่ทำให้เกิดพิษกับร่างกาย เช่น Oxalic acid, Resorcinol, Hydrogen peroxide, Thiolactic acid, Potassium hydroxide, Lead acetate, และอื่นๆ ในอดีต กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ได้แก่ น้ำยาดัดผม น้ำยายืดผม น้ำยาย้อมผม ครีมแต่งผมดำ ผลิตภัณฑ์ฟอกสีผม ผลิตภัณฑ์ทำให้ขนร่วง ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์สำหรับเล็บ ผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นต่างๆ

2. เครื่องสำอางควบคุม: เป็นเครื่องสำอางที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ สารสำคัญที่อยู่ในขอบข่ายเครื่องสำอางควบคุม ได้แก่ Benzyl salicylate, Ethyl diethylaminobenzoate, Oxybenzone, Dihydroxyacetone, Menthylanthranilate, Sulisobenzone, Zinc pyrithione ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่จัดอยู่ในเครื่องสำอางควบคุม ได้แก่ ผ้าอนามัย ผ้าเย็น กระดาษเย็น แป้งฝุ่นโรยตัว แป้งน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารป้องกันแสงแดด ผลิตภัณฑ์สำหรับผมที่มีรังแค

3. เครื่องสำอางทั่วไป: เป็นเครื่องสำอางที่อยู่นอกเหนือจากเครื่องสำอางใน 2 ประเภทแรกดังได้กล่าวแล้ว ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั่วไปที่มีใช้กันเกลื่อนตลาดในท้องตลาด เช่น สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โลชั่น น้ำหอม เครื่องสำอางตกแต่งใบหน้า เป็นต้น

*****แต่เมื่อ วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2551 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ยกเลิกการแบ่งหมวดหมู่เครื่องสำอางทั้ง 3 ประเภท และได้ประกาศให้ ‘เครื่องสำอางทุกประเภท เป็นเครื่องสำอางควบคุม’เท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2551 เป็นต้นมา

เครื่องสำอางผ่าน อย. – ไม่ผ่าน อย. เป็นอย่างไร?

ประเภทเครื่องสำอาง

เป็นความสับสนอย่างยิ่งที่ผู้บริโภคจำนวนมากเข้าใจว่า เครื่องสำอางที่ผ่าน อย. หมายถึง เครื่องสำอางที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ โดยมี อย. เป็นผู้รับรองว่าปลอดภัย ผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า “ไม่ใช่นะครับ” ตั้งแต่ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2553 เครื่องสำอางทุกชนิดต้องเข้ามาจดแจ้งโดยยื่นข้อมูลที่เป็นส่วนประกอบของสูตรตำรับเครื่องสำอางนั้นๆให้ทางอย. อย.จะพิจารณาว่าในสูตรตำรับมีส่วนประกอบที่ปลอดภัยและไม่ได้ใช้สารเคมีที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเท่านั้น

อย.ไม่ได้นำเครื่องสำอางที่ขอจดแจ้งไปส่งตรวจคุณภาพกับห้องทดลอง/ห้องปฏิบัติการใดๆ แต่จะพิจารณาจากองค์ประกอบที่ผู้ผลิตแจ้งมาว่าเหมาะสม อย.จึงออก “เลขที่ใบรับแจ้ง” อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นเลขรับรองยืนยันความปลอดภัยของเครื่องสำอาง ผู้บริโภคแต่ละบุคคลมีผิวพรรณที่แตกต่างกัน สูตรตำรับเครื่องสำอางเดียวกัน คนหนึ่งใช้แล้วรู้สึกดี แต่อีกคนหนึ่งอาจจะมีอาการแพ้เกิดขึ้นก็ สรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายและกระชับว่า

  • เครื่องสำอาง จะต้องมี “เลขที่ใบรับแจ้ง” มีตัวเลข 10 หลัก
  • ยา จะต้องมี “เลขทะเบียนยา”
  • อาหารจะต้องมี “เลข อย.” มีตัวเลข 13 หลัก

เลขที่ใบรับแจ้งของเครื่องสำอางจะบอกอะไรบ้าง?

ยกตัวอย่างเลขที่ใบรับแจ้งของเครื่องสำอางมา 1 ตัว เช่น ครีมบำรุงผิวเอบีซี เลขที่ใบรับแจ้ง 10-1-5811111

  • 10 หมายถึง มีการแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางในกรุงเทพ(หมายเลขของจังหวัด กรุงเทพ)
  • 1 หมายถึง เป็นการผลิตในประเทศ (หากเป็นเลข 2 จะเป็นการนำเข้า)
  • 58 หมายถึง มีการเข้าจดแจ้งกับ อย. ในปี พ.ศ.2558
  • 11111 หมายถึง เลขลำดับใบรับแจ้งที่ออกให้ในปี พ.ศ.2558

สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเลขที่ใบรับแจ้งได้อย่างไร?

ปัจจุบันเว็บไซด์ของ อย. ได้เอื้อประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลเครื่องสำอางว่าเป็นสินค้าที่จดแจ้งกับ อย.หรือยัง ผู้อ่านสามารถเข้าเว็บไซด์ข้างล่างได้ครับ

http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx [2018,June30]

แล้วพิมพ์เลขที่ใบรับแจ้งตามที่ระบุบนฉลากของเครื่องสำอางที่อยากจะสืบค้น จากนั้นให้กดค้นหา หรือเคาะ Enter ที่แป้นคีย์บอร์ด ก็จะพบรายละเอียดของ เครื่องสำอางนั้นโดยมี เลขจดแจ้ง(เลขที่ใบรับแจ้ง) ชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ สถานะว่าอนุมัติหรือไม่ ทดลองทำดูครับไม่ยากเลย

ฉลากของเครื่องสำอางทุกชนิด ควรมีรายละเอียดใดบ้าง?

ตามประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอางได้กำหนดรายละเอียดที่ต้องระบุบนฉลากของเครื่องสำอางดังนี้

1. ชื่อเครื่องสำอาง และชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น

2. ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง

3. ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งจะต้องเป็นชื่อตามตำราที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด และจะต้องเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย

4. วิธีใช้เครื่องสำอาง

5. - ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ

- ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิต และประเทศที่ผลิต กรณีที่เป็นเครื่องสำอางนำเข้า

6. ปริมาณสุทธิของเครื่องสำอางที่บรรจุในภาชนะบรรจุ

7. เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต

8. เดือน ปี ที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต

9. กรณีที่เป็นเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน ตามบัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอางต้องระบุ เดือน ปี ที่หมดอายุ หรือ ปี เดือน ที่หมดอายุหรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน

10. คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล (ถ้ามี)

11. เลขที่ใบรับแจ้ง

บรรณานุกรม

  1. http://www.biopluschem.com/images/1125768947/Cosmetics%20Law%20Instruction.pdf [2018,June30]
  2. www.pharmabeautycare.com/content/5503/อยและเครื่องสำอาง-ตอนที่-2-คำถามที่พบบ่อย-เกี่ยวกับเลข-อย [2018,June30]
  3. http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx [2018,June30]
  4. http://www.kkpho.go.th/index/component/attachments/download/1476 [2018,June30]