ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 87 : แผนกบริการเปล

ผู้ป่วยจำนวนมากที่มาโรงพยาบาล อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวเองได้ (Immobilized) หรือเคลื่อนไหวเองได้อย่างมีข้อจำกัด (Impaired mobility) แผนกบริการเปล (Patient transportation) จึงได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนย้ายได้สะดวกภายในโรงพยาบาล โดยลดโอกาสการบาดเจ็บระหว่างเคลื่อนย้ายดังกล่าว

เนื่องจากโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บระหว่างการใช้บริการเปลภายในโรงพยาบาล จึงต้องว่าจ้างบุคลากรที่มีความระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปรับการตรวจวิเคราะห์ (Test) หรือทำหัตถการ (Procedure) และแม้กระทั่งเมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล

บางครั้งผู้ป่วยจะไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงต้องการให้ใช้บริการเปล ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยคิดว่า ตนมีความสามารถในการเคลื่อนไหว (Mobile capacity) เหตุผลก็คือการลื่นหกล้มภายในโรงพยาบาล เป็นอุบัติการณ์ (Incident) ที่ร้ายแรง และยอมรับไม่ได้ เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ หากเจ้าหน้าที่บริการเปลที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี รู้จักเอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

บุคลากรในแผนกนี้ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานการศึกษาที่สูงกว่ามัธยมปลาย หรืออาชีวศึกษา แต่ต้องได้รับการฝึกฝนอบรมภายใน (In-service) เพื่อปลูกจิตสำนึก และตอกย้ำมาตรการและระเบียบวิธีบางประการที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย

การฝึกอบรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุคลากรแผนกบริการเปล ที่ให้บริการหลากหลายแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล อาทิ ในกรณีที่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยผ่านบริเวณที่มีแม่เหล็กแรงสูง หรือมีการแผ่รังสี (Radiation) จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย

เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องเคลื่อนย้ายไปทำหัตถการหรือศัลยกรรม (Surgery) เจ้าหน้าที่แผนกบริการเปล ต้องได้รับการฝึกอบรมในเรื่องกฎเกณฑ์ปฏิบัติ (Protocol) ของการค้นหาอัตลักษณ์ (Identity) ของผู้ป่วย และของการรักษาความลับของผู้ป่วย (Privacy)

แม้ว่าความสำคัญของแผนกบริการเปล อาจถูกละเลยในทางปฏิบัติ เช่นเดียวกับแผนกต้อนรับและแผนกโทรคมนาคม แต่แผนกนี้ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันโรงพยาบาลจากโอกาสถูกฟ้องร้องโดยผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วย แล้วยังเพิ่มโอกาสสร้างความพึงพอใจในบริการของลูกค้า (Customer satisfaction) อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

การปล่อยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวอย่างลำบากด้วยตัวเองในโรงพยาบาล เป็นภาพลักษณ์ที่สะท้อนถึงระดับการบริการลูกค้าในเชิงลบ ดังนั้นการให้บริการเปลอย่างมืออาชีพ จึงจำเป็นต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยในที่สุด ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)
  3. Nutritionist - http://en.wikipedia.org/wiki/Nutritionist