ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 64 : วิวัฒนาการรังสีรักษา

รังสีรักษา (Therapeutic radiology) ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กัน อาทิ Radiation oncology หรือ Radiation therapy คือ การรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายแสงที่มีพลังสูง (High energy) โดยเป็นเครื่องมือ (Modality) หลัก ในการบำบัดผู้ป่วยอย่างเดียว หรืออาจทำร่วมกับศัลยกรรม (Surgery) และเคมีบำบัด (Chemotherapy)

ในรังสีรักษา ผู้ป่วยจะได้รับการฉายแสงในปริมาณ (Dose) สูง เฉพาะส่วนของร่างกายที่เป็นมะเร็ง โดยคำสั่งของแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะมะเร็ง (Oncologist) การฉายแสงจะทำปฏิกิริยากับเซลล์ของร่างกายผู้ป่วย และป้องกันเซลล์มะเร็งมิให้ลุกลาม โดยเป็นสาเหตุของการทำลาย DNA (=Deoxyribonucleic acid) [ของเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็ง]

จุดมุ่งหมายของรังสีรักษา คือการควบคุมเนื้องอก (Tumor) ในขณะที่ปกป้องเนื้อเยื่อปรกติที่อยู่รอบข้างให้ได้รับรังสีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หัตถการนี้ส่วนใหญ่ทำภายนอกร่างกาย โดยฉายแสงด้วยเครื่องเร่งอนุภาค (Linear accelerator : LINAC) แต่อาจทำภายในร่างกาย ด้วยหัตถการฝังแร่ หรือรังสีระยะใกล้ (Bracytherapy)

รังสีรักษามักใช้เวลาหลายสัปดาห์ เพราะต้องซอยปริมาณสูงของรังสีที่แพทย์สั่งไว้ ให้เป็นปริมาณต่ำในแต่ละครั้ง เพื่อให้เนื้อเยื่อปรกติมีเวลาในการฟื้นฟูหรือซ่อมแซมตัวเอง ผู้ป่วยจะเข้ารับการฉายแสงในปริมาณต่ำทุกๆ วัน จนกว่าจะครบปริมาณสูงตามตารางที่กำหนด (Regimen) ส่วนเซลล์ที่เป็นมะเร็งจะถูกรังสีทำลายจนตายหรือไม่ก็หยุดการเติบโต

รังสีแพทย์โรคมะเร็ง/รังสีรักษาแพทย์ (Radiation oncologist) เข้ามามีบทบาทสำคัญ เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง แล้วไม่สามารถรักษาด้วยศัลยกรรมเพียงอย่างเดียว รังสีแพทย์โรคมะเร็งเป็นผู้เสนอทางเลือกการรักษาเฉพาะที่ (Localized treatment) ให้ผู้ป่วยหายได้ หรือบรรเทาอาการที่เกิดจากวิวัฒนาการของโรค โดยการฉายแสงพลังสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง

รังสีแพทย์โรคมะเร็ง จะเริ่มต้นด้วยการหารือกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และแพทย์สาขาอื่นๆ ในเรื่องขอบเขตของโรคและจุดมุ่งหมายของการรักษา หลังจากได้พิจารณาการวินิจฉัยก่อนหน้านี้แล้ว อาจสั่งให้ทำหัตถการวินิจฉัยเพิ่มเติม ถ้าจำเป็น แล้วรังสีแพทย์โรคมะเร็ง ก็จะกำหนดปริมาณการฉายแสงและระยะเวลา (Course) เป็นตาราง

แพทย์ที่เกี่ยวข้องทำงานเป็นทีมในการควบคุมการดูแลผู้ป่วยตลอดระยะเวลารักษาดังกล่าว ติดตามความคืบหน้า และดำเนินมาตรการบรรเทาผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการบำบัดรักษา หลังครบกำหนด ผู้ป่วยยังต้องมาพบแพทย์เพื่อค้นหาโอกาสที่โรคมะเร็งจะหวนกลับ (Recurrence) หรือผลข้างเคียงจากการบำบัดรักษาด้วยการฉายแสง

นักรังสีบำบัด (Radiation therapist) คือผู้ทำหน้าที่ฉายแสงตามตารางที่กำหนดโดยรังสีแพทย์โรคมะเร็ง และจะทำงานใกล้ชิดกับแพทย์ดังกล่าว พร้อมนักวิชาชีพดูแลสุขภาพอื่นๆ ในทีมดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยในเรื่องหัตถการ และการรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา รวมทั้งให้การสนับสนุนทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)