ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 51: สภาเภสัชกรรมไทย

สภาเภสัชกรรม (Pharmacy Council) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2537 เป็นองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย บริหารงานโดยคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม ซึ่งมีวาระอยู่ในตำแหน่งครั้งละ 3 ปี กรรมการ 10 คนเป็นโดยตำแหน่งทั้งจากภาครัฐและเอกชน ส่วนอีก 10 คนเลือกจากสมาชิกของสภาเภสัชกรรม

สภาเภสัชกรรมมีอำนาจหน้าที่ในการรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในวิชาเภสัชศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเภสัชกรรมของสถาบันต่างๆ รับรองหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ ของวิชาชีพเภสัชกรรม รับรองวิทยฐานะของสถาบันที่ฝึกอบรมดังกล่าว และออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่างๆ

สภาเภสัชกรรมมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการศึกษาการวิจัยและการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก ผดุงไว้ซึ่งสิทธิความเป็นธรรมและส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิก ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการเภสัชกรรม ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับเภสัชกรรมและการสาธารณสุข และเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย

เพื่อให้เป็นแนวทางในการจัดการและพัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรมเข้าสู่ความเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงความสามารถในการประเมินขอบเขตและคุณภาพของการให้บริการด้านเภสัชกรรมโรงพยาบาล สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลและกองโรงพยาบาลภูมิภาค จึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยยึดหลักความสำคัญที่วิชาชีพจะต้องดำเนินการเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของระบบยา และความสามารถโดยรวมขององค์กรในการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา

มาตรฐานดังกล่าว ประกอบด้วย ภาวะความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการงานเภสัชกรรม การให้บริการเภสัชสนเทศและการให้การศึกษาด้านยา การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล การกระจายและการควบคุมยา อุปกรณ์ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก และแหล่งสนเทศทางยา ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางยา

ในฐานะเป็นผู้ให้การบริบาลทางเภสัชกรรม เภสัชกรไม่เพียงแค่จัดให้มีบริการต่างๆ ด้านเภสัชกรรมเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญและสนใจต่อผลลัพธ์ (Outcome) ของการให้บริการและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในภาพรวม ด้วยปัจจัยหลักของงานเภสัชกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อความสำเร็จในการดำเนินงานของ โรงพยาบาลให้ป็นไปตามมาตรฐานสากล

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. สภาเภสัชกรรม - http://www.pharmacycouncil.org/main/history.php [2013, March 8]
  2. พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม - http://www.pharmacycouncil.org/main/law.php [ 2013, March 8]