ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 49 : การควบคุมยา

ยาทุกตัวในโรงพยาบาล ต้องได้รับการควบคุม เพราะเป็นสินทรัพย์ขององค์กร โดยเฉพาะยาเสพติด (Narcotics) และยาออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (Barbiturate) ยิ่งต้องได้รับการควบคุมเป็นพิเศษ โดยจัดเก็บไว้ในตู้เซฟที่แน่นหนาทั้งในห้องจ่ายยา (Pharmacy) และหน่วยงานการพยาบาล (Nursing unit) ซึ่งมักมีบริเวณจำกัด

นอกจากนี้ต้องมีการบันทึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับการใช้ยาทั้งสองประเภท ตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และขณะเดียวกัน ต้องพร้อมให้เจ้าหน้าที่รัฐ [สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในกรณีประเทศไทย]เข้ามาตรวจสอบโดยมิต้องนัดล่วงหน้า (Surprise inspection) โรงพยาบาลบางแห่งติดตั้งกล้องวงจรปิด (Closed circuit television : CCTV) เพื่อเปิดดูย้อนหลังกรณีที่พบว่า ยาดังกล่าวได้หายไป หรือมิได้บันทึกลงรายการเบิกไปใช้

เมื่อมีการสั่งจ่ายยาสองประเภทดังกล่าว แพทย์ต้องระบุเลขทะเบียนบนใบสั่งยา (Prescription) พยาบาลรับคำสั่งต้องบันทึกชื่อยาและเลขทะเบียนในประวัติผู้ป่วย (Medical record) ภายใน 48 ชั่วโมง โรงพยาบาลส่วนใหญ่ มักกำหนดเป็นนโยบายให้แพทย์เป็นผู้ขอสั่งซื้อยาทั้งสองประเภท

การรู้จักจัดยาทั้งสองประเภทโดยเภสัชกร การเฝ้าติดตาม (Surveillance) การตรวจสอบ (Audit) และการสืบสวนสอบสวน (Investigation) ผลแตกต่าง [ของยอดคงคลังกับยอดในบัญชี] ที่ทันกาล เป็นมาตรการที่มั่นใจได้ว่า ยาทั้งสองประเภทได้รับการควบคุมอย่างละเอียดรอบคอบ

ยาที่ต้องได้รับการควบคุม เป็นปัญาหาสำคัญสำหรับโรงพยาบาล โดยเฉพาะกรณีที่การควบคุมที่มิได้จำกัดอยู่ที่คลังยาแห่งเดียว ในบางโรงพยาบาล อาจเก็บยาเสพติดและยาออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในแผนกฉุกเฉิน (Emergency) แผนกสวนหัวใจ (Cardiac catherization) และแผนกศัลยกรรม (Surgery) เป็นต้น

การตรวจนับอย่างละเอียดทุกครั้งที่เปลี่ยนกะทำงาน และการสุ่มนับตัวอย่าง (Random) จะช่วยแก้ปัญหาการควบคุมได้ดี นอกจากนี้ การรณรงค์ให้ที่ทำงานปลอดยา (Drug-free workplace) ช่วยลดการใช้ยา การครอบครองยา การบริโภคยา หรือการจ่ายยาที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งแอลกอฮอล์ด้วย

ในสหรัฐอเมริกา พบว่า บ่อยครั้งที่แพทย์ พยาบาล และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพอื่นๆ (Healthcare professionals) เป็นผู้เสพยาเหล่านี้เสียเอง จึงอาจพยายามเบิกยาดังกล่าว เพื่อใช้เอง ดังนั้น หากมีการยักยอกยาเกิดขึ้น จะต้องรายงานตามสายบังคับบัญชาและแพทย์ที่เกี่ยวข้อง [รวมทั้ง อย. ในกรณีประเทศไทย] พร้อมทั้งแจ้งตำรวจทันที

เนื่องจากการใช้ยาผิด เป็นปัญหาสำคัญด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และสุขภาพ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา มักมีโปรแกรมช่วยเหลือพนักงานที่ติดยาเสียเองในรูปแบบของการแนะนำให้คำปรึกษา (Counseling) และบริการสนับสนุน

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)