ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 47 : สิ่งอำนวยความสะดวกในการจ่ายยา

โรงพยาบาลสมัยใหม่ มีวิธีการและอุปกรณ์ทันสมัยในการจ่ายยา อาทิ การใช้หุ่นยนต์ (Robotics) ในการจ่ายยาจากห้องยาหลัก ไปยังหน่วยงานการพยาบาล (Nursing unit) เพื่อจ่ายให้ผู้ป่วยในในแต่ละห้อง หุ่นยนต์นี้มักเพิ่มความเร็วในกระบวนการจ่ายยาให้ผู้ป่วย อาทิ หุ่นยนต์มี 3 มือในการเติมยาใน 1 ถาด ตามใบสั่งแพทย์ ต่อการใช้ 1 รอบ ในเวลา 3 นาที

ในทางปฏิบัติ ยังคงต้องใช้คนในการตรวจสอบความถูกต้อง แต่การใช้หุ่นยนต์ก็ได้ช่วยลดข้อผิดพลาดการสั่งยา (Prescription error) และจ่ายยา (Medication error) ทำให้พยาบาลมีเวลามากขึ้นในการดูแลผู้ป่วย

ปัญหาใหญ่ของปฏิบัติการฝ่ายเภสัชกรรม คือการได้รับโทรศัพท์ทุกวันจากฝ่ายการพยาบาล สอบถามถึงเวลาที่ควรได้รับยา บางครั้งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะใบขอเบิกยาหาย หรือส่งไปผิดที่ สร้างความอึดอัดใจให้ทั้งเภสัชกรและพยาบาล ดังนั้นโรงพยาบาลบางแห่งจึงใช้ระบบติดตามไร้สาย (Wireless tracking) พร้อมเครื่องอ่านรหัสแท่ง (Barcode scanner)

ระบบดังกล่าวมีการบันทึกในเวลาจริง (Real time) ของการเตรียมยา และตำแหน่งที่เก็บในกระบวนการจัดขน จัดส่ง(Logistics) จากห้องจ่ายยาไปยังหน่วยงานการพยาบาล ระบบนี้ ทำให้ฝ่ายเภสัชกรรมสามารถจัดลำดับความสำคัญของใบสั่งยาด่วน (STAT order) และยาที่มีต้นทุนสูง ในขณะที่พยาบาลสามารถเห็นสถานะของใบสั่งยา (Order Status) แต่ละใบ ลดความจำเป็นในการโทรศัพท์สอบถามฝ่ายเภสัชกรรม ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) ทั้งเภสชักรและพยาบาลไปในตัว

ฝ่ายเภสัชกรรมยังรับผิดชอบต่อการเตรียมและจ่ายสารละลายที่ให้ทางหลอดเลือดดำ (Intravenous solutions) หรือสารอาหารทางหลอดเลือด (Parenteral feeding) รวมทั้งสารโภชนาการ (Nutritional substance) และสารสำหรับเคมีบำบัด (Chemotherapeutic agent) เวลาที่เตรียมและจ่าย เป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากสารบางอย่างจะเสถียร ในเวลาอันสั้นเท่านั้น

สภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อ (Sterile) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเตรียมยา ดังนั้น การระบายอากาศเป็นชั้นๆ พร้อมฝาครอบ (Laminar-flow hood) และการมีตู้ (Cabinet) ที่ได้รับการออกแบบพิเศษโดยเฉพาะ ให้ป้องกันการปนเปื้อน (Contamination) จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญยิ่งยวด

โรงพยาบาลบางแห่งในสหรัฐอเมริกา ใช้ระบบจ่ายยาผ่านโทรศัพท์ (Telepharmacy) ซึ่งเป็นแนวความคิดใหม่ที่ให้บริการจ่ายยาตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับโรงพยาบาลขนาดเล็กหรืออยู่ในชนบทที่ขาดแคลนเภสัชกร การทำงานของระบบนี้ คือการที่พยาบาลนำใบสั่งยาแพทย์เข้าระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังร้านขายยาที่มีเภสัชกรวิชาชีพ

จากนั้นเภสัชกร จะตรวจสอบปฏิกิริยาของยา (Drug interaction) และให้มั่นใจว่าเป็นใบสั่งแพทย์จริง แล้วจัดส่งยามาให้โรงพยาบาล หรือให้อำนาจพยาบาลนักปฏิบัติ (Nurse practitioner) เบิกจ่ายยาโดยตรงจากห้องยาของโรงพยาบาล

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)