ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 154 : บทอวสาน

บทความในคอลัมน์นี้ ได้มาถึงตอนสุดท้ายแล้ว กว่าขวบปีที่ผ่านมา ผมได้พยายามถ่ายทอดภาพการทำงานภายในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความซับซ้อนมาก โดยแบ่งเป็นตอนๆ เพื่อความกระชับในการอธิบายถึงบทบาทของฝ่ายบริหาร แพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ในการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เห็นทุกๆ แง่มุมของโรงพยาบาล

โรงพยาบาลทุกวันนี้ ให้บริการในลักษณะบูรณาการ (Integrative care) ซึ่งเชื่อมโยงหลากหลายสาขาวิชา (Multiple disciplines) เข้าด้วยกัน เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ผ่านความร่วมมือที่สำคัญ (Collaboration) ระหว่างผู้ให้บริการโดยตรงและปฏิบัติการ (Operations) นานัปการที่ให้การสนับสนุน

หน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ (Laboratory) เภสัชกรรม (Pharmacy) รังสีวิทยา (Radiology) กายภาพบำบัด (Physical therapy) และบริการสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่าง คุณภาพ ประสิทธิภาพ และต้นทุน ในปฏิบัติการ “หน้างาน” (Front end)

ในส่วนที่เป็น “หลังบ้าน” (Back office) ผมได้กล่าวถึงแผนกบัญชีและการเงิน สายโซ่อุปทาน (Supply chain) ทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology) การตลาดและประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ในภาพรวม (Macro view) รวมทั้งการทำงานในแต่ละแผนก และการเชื่อมโยงของกรอบการทำงาน (Framework) ที่คงเส้นคงวาและไร้รอยตะเข็บ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่เป็นเลิศ

จากประวัติศาสตร์อย่างสังเขป จวบจนถึงปัจจุบัน เราได้เรียนรู้ว่า ความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายในโรงพยาบาล คือกุญแจสำคัญในการเยียวยารักษาผู้ป่วย แต่เมื่อความซับซ้อนเพิ่มขึ้นในระบบดูแลสุขภาพ ผู้บริหารจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ด้วย อาทิ ปัจจัยทางด้านการเงินและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ (Compliance)

ปฏิบัติการในโรงพยาบาลดำเนินไปภายใต้ความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาจากผู้ป่วยและชุมชน ในขณะที่บุคลากรทางแพทย์ต้องทำงานหนัก ภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของวัฒนธรรมวิชาชีพ บุคลิกภาพ และทัศนคติ ตลอดจนความรู้ทักษะเฉพาะสาขาวิชา วิถีการสื่อสาร (Communication style) และขอบเขตในการปฏิบัติงาน

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ คือสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารโรงพยาบาล ซึ่งต้องเข้าใจความจำเป็นของบูรณาการและปฏิสัมพันธ์ของหลากหลายสาขาวิชาชีพ เพื่อประสิทธิผลในการเยียวยารักษาผู้ป่วย แต่ก็ต้องรักษาความสมดุลกับผลกระทบทางการเงิน เพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนของโรงพยาบาลในระยะยาว

ความสมดุลดังกล่าว จะเป็นดัชนีชี้วัดของความสำเร็จในการบริหารโรงพยาบาลในศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะรับมือกับวิวัฒนาการของโรคร้ายที่ซับซ้อนขึ้นทุกๆ วันเช่นกัน เหนือสิ่งอื่นใดคือความคาดหวังว่า โรงพยาบาลจะให้บริการดูแลสุขภาพที่ยึดมั่นในจริยธรรมการแพทย์ (Bio-ethics) เป็นที่ตั้ง ตลอดการดูแลผู้ป่วย

ผมเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในเรื่ต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)

ปฏิบัติการในโรงพยาบาล-ตอนที่154