ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 147 : ประเด็นทางจริยธรรม

โรงพยาบาลประสบปัญหาจริยธรรมทางการแพทย์ (Bioethics) จำนวนมากหรือยากต่อการรับมือ เนื่องจากกิจกรรมโรงพยาบาลเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตจนถึงสิ้นสุดชีวิต ประเด็นจริยธรรมบนพื้นฐานผู้ป่วยจึงเกิดขึ้นแทบทุกวัน ทั้งโรงพยาบาลในประเทศไทยและในต่างประเทศ

ตัวอย่างได้แก่ ความขัดแข้งทางจริยธรรม (Ethical dilemma) ระหว่างการรักษากับการไม่รักษาทารกที่มีสภาวะสาหัสทางการแพทย์ อาทิ คลอดก่อนกำหนดอย่างรุนแรง (Severe prematurity) กระดูกสันหลังโหว่ (Spina bifida) และสภาพไร้สมองใหญ่ (Anencephaly)

เหตุผลสนับสนุนให้ละเว้นการรักษา ก็คือความคิดที่ว่าทารกเหล่านี้ยังมิใช่เป็นคน และค่าใช้จ่ายในการรักษา ไม่คุ้มกับผลประโยชน์ที่ทารกและครอบครัวทารกได้รับ เหตุผลสนับสนุนให้การรักษา ก็คือความคิดที่ว่าทารกเหล่านี้เป็นคนแล้ว จึงมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความจริงก็คือ ประเด็นนี้ยากต่อการตัดสินใจ ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด การสื่อสาร และนโยบายเรื่องจริยธรรม

ประเด็นจริยธรรมก็เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต อาทิ การให้ผู้ป่วยป็นผู้ตัดสินใจเอง (Autonomy) กลายเป็นประเด็นเมื่อมีความขัดแย้งเกี่ยวกับความปรารถนาของผู้ป่วยในการรักษาช่วงสุดท้ายของชีวิต (Terminal care) โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถแจ้งความต้องการ (Preference) และไม่มีเอกสารระบุ อาทิ คำสั่ง DNR (Do-not-resuscitate = ห้ามให้เครื่องกู้ชีพ)

ในสหรัฐอเมริกา ยังมีประเด็นซับซ้อนเกี่ยวกับสิทธิผู้ป่วยที่อยากจะตาย และสามารถฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ (Physician-assisted suicide) รวมทั้งประเด็นสั่งเสียล่วงหน้า (Advance directive) และลงมือปฏิบัติ ซึ่งก่อให้เกิดประสบการณ์ที่สะเทือนความรู้สึกในบรรดาสมาชิกของครอบครัวและแม้แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ แนวความคิดของคุณธรรมในวิชาชีพ (Professional integrity) และจิตสำนึก (Conscience) แพทย์มีคุณสมบัติมากกว่าเพียงทักษะความชำนาญในการแพทย์ (Clinical skill) เพราะเป็นบุคคลที่มีความจริงใจในการดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด แต่ในบางสถานการณ์ การดูแลผู้ป่วยอาจขัดแย้งกับจิตสำนึกของวิชาชีพ

ตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมในการทำแท้ง (Abortion) การสั่งยาคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ (Post-coital contraception) และการหยุดการรักษาที่ช่วยยืดชีวิต บางโรงพยาบาลออกนโยบายมิให้แพทย์ต้องเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับจิตสำนึกของแพทย์เอง แต่ต้องคำนึงความสมดุลระหว่างนโยบายกับความต้องการของผู้ป่วยด้วย อาทิ เมื่อโรคเอดส์ (AIDS) เริ่มปรากฎในวงการดูแลสุขภาพใหม่ๆ แพทย์บางคนปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยโรคดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของชีวิตแพทย์เอง

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในเรื่ต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)