ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 146 : จริยธรรม 4 ประการ

ในบริบทของโรงพยาบาล หลักการให้ผู้ป่วยป็นผู้ตัดสินใจเอง (Autonomy) ดูเหมือนจะง่าย แต่มักประสบความยุ่งยากเมื่อนำไปลงมือปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ป่วยถูกบังคับจากสมาชิกในครอบครัวให้เข้ารับการบำบัดรักษาในหัตถการที่ตัวเองไม่ต้องการ แพทย์ต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่ขัดแย้งทางจริยธรรม (Ethical dilemma) กับเรื่องความยินยอมของผู้ป่วยที่ได้รับข้อมูลครบในการตัดสินใจ (Informed consent)

แล้วยังมีประเด็นในเรื่องการรักษาความลับ (Confidentiality) ตัวอย่างเช่น ในกรณีผู้ได้รับการวินิจฉัย แล้วพบว่า เป็นการป่วยช่วงสุดท้ายของชีวิต (Terminal illness) แพทย์ควรเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ป่วยรับรู้แค่ไหน เพื่อไม่ให้มีความขัดแย้งทางจริยธรรม กับหลักการให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตัดสินใจที่จำกัดการดูแลตนเอง ก็ควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการป้องกันหรือลดอันตราย และ/หรือ ให้ผลประโยชน์ผู้ป่วยสูงสุด การใช้แนวความคิดนี้ ทำให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการที่มีคุณภาพ โดยไม่ขัดแย้งกับการให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจเอง

หลักการของการดูแลให้หายป่วย (Beneficence) และการป้องกันมิให้เกิดอันตราย (Nonmaleficence) มักได้รับการพิจารณาเป็นคู่ในการอภิปรายเรื่องจริยธรรม การป้องกันมิให้เกิดอันตราย เป็นความเชื่อหลักในเรื่องการแพทย์ ซึ่งมีต้นกำเนิดในยุคของฮิปโปคราตีส (Hippocrates) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน” (Father of Modern Medicine)

ความเชื่อนี้ เตือนสติแพทย์มิให้ทำอันตรายผู้ป่วยในการปฏิบัติหน้าที่ หากอันตรายเป็นสิ่งจำเป็น (อาทิ ในศัลยกรรม) ก็ต้องพยายามจำกัดมีให้อันตรายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการรักษา การประยุกต์ใช้หลักการนี้ ได้รวมแนวทางปฏิบัติ (Practice guideline) มาตรฐานการดูแลที่เหมาะสม (Due-care standard) และการประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) ต่อผู้ป่วย

ในเรื่องความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ (Benefit) กับภาระ (Burden) ที่เรียกว่า Justice นั้น ความปรารถนาที่จะให้บริการที่จำเป็น การลดความเจ็บปวดและทรมาน และส่งเสริมการเยียวยา (Healing promotion) เป็นหลักปฏิบัติในการบำบัดรักษาของแพทย์อยู่แล้ว โดยไม่คำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม เชื้อชาติ (Ethnicity) หรือระดับการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การรักษาความสมดุล ระหว่างผลประโยชน์ กับภาระ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องทำกำไรเพื่อให้มีความสามารถในการให้บริการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กำไรไม่อาจมาจากการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีเงินหรือมีเงินน้อยในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล จึงเป็นประเด็นความขัดแย้งทางจริยธรรม ระหว่างความจำเป็นในการให้การบำบัดรักษากับความจำเป็นในการทำกำไร

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในเรื่ต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)