ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 145 : ความสำคัญของจริยธรรม

โรงพยาบาลแตกต่างจากสิ่งแวดล้อมของงานอื่นๆ ตรงที่พันธกิจของโรงพยาบาลคือให้การดูแลผู้คนตั้งแต่เริ่มหายใจครั้งแรกจนถึงหายใจเฮือกสุดท้ายในชีวิต เพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว โรงพยาบาลต้องเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมงในทุกๆ วัน 7 วันในทุกๆ สัปดาห์ และ 365 วันในทุกๆ ปี

ผู้ทำงานในสถานการณ์ดังกล่าว ต้องสามารถให้การดูแลด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (Compassionate) ผู้ป่วยซึ่งต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยไม่เลือกอายุ ชนชั้น หรือเชื้อชาติ (Ethnicity) ใดๆ นอกจากนี้ยังต้องสามารถสื่อสารทั้งข่าวดีและข่าวร้ายแก่ผู้ป่วยและญาติมิตร ด้วยความเข้าอกเข้าใจ (Empathetic)

นักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) ซึ่งให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล ก็มีปัญหาของเขาเองด้วย เพราะทำงานในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการคาดหวัง ว่าจะต้องมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย ไม่ว่าผู้ป่วยหรือเขาเองจะอยู่ในสถานการณ์ใดในโรงพยาบาล เขายังต้องพบกับความท้าทายของจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

โรงพยาบาลเอง ก็เผชิญกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเรื่องเทคโนโลยีทันสมัย และความคาดหวังว่า โรงพยาบาลจะให้บริการที่มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และคุณภาพสูงในการดูลสุขภาพ ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนเช่นนี้ จึงไม่ยากที่เข้าใจประเด็นทางจริยธรรมทางการแพทย์ (Bioethics) ที่โรงพยาบาลต้องประสบอยู่ จากหลากหลายแหล่งด้วยกัน

นอกจากนี้ ชุมชนยังคาดหวังให้โรงพยาบาลรักษาระดับมาตรฐานสูงในเรื่องของจริยธรรมของการดูแลผู้ป่วย แต่ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลต้องมีกำไร เพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนในระยะยาว ความรับผิดชอบในเรื่องจริยธรรม เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในรากเหง้า(Inherent) ของการบริหารโรงพยาบาล มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณที่เริ่มต้นจากอริสโตเติล (Aristotle) จวบมาถึงปัจจุบัน

วิวัฒนาการของทฤษฎีทางด้านจริยธรรม มาจนถึงปัจจุบัน ได้กลั่นกรองเป็นแนวความคิดหลักการพื้นฐาน (Cardinal principle) 4 ประการ อันได้แก่ การให้ผู้ป่วยป็นผู้ตัดสินใจเอง (Autonomy) การดูแลให้หายป่วย (Beneficence) การป้องกันมิให้เกิดอันตราย (Non-maleficence) และความสมดุลระหว่างผลประโยชน์กับภาระ (Justice)

การนำหลักการเหล่านี้ไปปฏิบัติ นำไปสู่ประเด็นทางจริยธรรมในบรรดาบุคลากรของโรงพยาบาล อาทิ ในเรื่อง Informed consent ตั้งอยู่บนข้อสมมุติฐานว่า ผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะ มีความสามารถ เข้าใจหัตถการ (Procedure) และตัดสินใจเองได้โดยความสมัครใจ แต่ถ้าผู้ป่วย “สอบไม่ผ่าน” เกณฑ์เหล่านี้ ก็เกิดประเด็นทางจริยธรรมทันที

แม้ว่า หลักการทั้ง 4 ประการ มีความสำคัญต่อจริยธรรม แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะนำไปปฏิบัติ การฝึกปรือเรื่องจริยธรรม ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจและความกล้า ในการจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจทั้งทางการแพทย์ และการบริหาร ตามปรกติแล้ว โรงพยาบาลต้องพิจารณาประเด็นทางจริยธรรมและเรียนรู้วิธีรับมือกับสิ่งที่เผชิญอยู่

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)