ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 143 : บุคลากรเสริมและผู้นำในระบบสารสนเทศ

ในระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล มีงานของบุคลากรเสริมอยู่ 3 ตำแหน่ง เช่นกัน กล่าวคือ (1) นักบริหารเครือข่าย (Network administrator) (2) นักบริหารโทรคมนาคม (Tele-communication Administrator) และ (3) บุคลากรด้านเว็บไซต์ (Web-site staff)

นักบริหารเครือข่าย มีหน้าที่จำลองแบบ วิเคราะห์ และวางแผนโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่าย เพื่อรองรับสนับสนุนโปรแกรมประยุกต์ (Applications program) ที่ใช้การแพทย์ (Clinical) และการบริหาร (Administrative) รวมทั้งการประยุกต์ใช้ทั่วไป อาทิ อีเมล และวงสื่อสารภายใน (Intranet)

รูปแบบที่หลากหลายของเครือข่าย ทำให้ผู้บริหารเครือข่ายต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมในการออกแบบ ทดสอบ และประเมินระบบเครือข่าย อาทิ เครือข่ายบริเวณใกล้ (Local area network : LAN) เครือข่ายบริเวณกว้าง (Wide area network : WAN) อินเทอร์เน็ต (Internet) และระบบสื่อสารข้อมูล (Data communication) อื่นๆ

ส่วนนักบริหารโทรคมนาคม รับผิดชอบระบบโทรศัพท์ของโรงพยาบาล อาทิ ระบบชุมสายส่วนกลาง โครงสร้างพื้นฐานโทรศัพท์มือถือ (Cellular phone) และระบบเรียกพยาบาล (Nurse call) รวมทั้งระบบฉุกเฉิน (Emergency) กรณีเกิดเหตุร้ายแรง [ซึ่งอาจมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก อาทิ ศูนย์เอราวัณ ของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครฯ]

เนื่องจากวิวัฒนาการเทคโนโลยี เกิดการรวมตัว (Convergence) ของเครือข่ายเสียงและข้อมูลเข้าด้วยกัน นักผู้บริหารโทรคมนาคมมีหน้าที่เพิ่มเติมในการออกแบบระบบการสื่อสารของเสียงและข้อมูล ควบคุมดูแลการติดตั้งของระบบดังกล่าว และบริการซ่อมบำรุงระบบแก่ผู้ใช้ หลังการติดตั้งแล้ว

นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ต ได้สร้างให้เกิดงานในด้านการออกแบบ พัฒนา และดูแลเว็บไซต์ อาทิ หัวหน้าเว็บ (Web master) ซึ่งรับผิดชอบด้านเทคนิคของเว็บไซต์ รวมทั้งการทำงาน (Performance) ในเรื่องความเร็วของการเข้าถึง และการอนุมัติเนื้อหา (Content) ส่วนผู้พัฒนาเว็บ (Wed developer) รับผิดชอบต่องานประจำวันของการออกแบบและสร้างเว็บ ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก อาจมีบุคคลเดียวทำหน้าที่ควบทั้งสองตำแหน่งนี้

ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อาจมีตำแหน่งรองประธานบริหารฝ่ายสารสนเทศ (Chief information officer : CIO) ที่รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีคุณสมบัติหลัก คือความสามารถด้านวิสัยทัศน์ และการวางแผนยุทธศาสตร์ของแผนก เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี สร้างระบบสารสนเทศ ให้เป็นเครื่องมือการตัดสินใจ ที่จะนำพาองค์กรไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์และพันธกิจของโรงพยาบาล

ในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีแพทย์สนใจเข้าดำรงตำแหน่งนี้ เรียกว่า “รองประธานบริหารฝ่ายสารสนเทศทางการแพทย์” (Chief medical informatics officer : CMIO) เพื่อตอกย้ำบทบาทของระบบสารสนเทศการแพทย์ (Clinical information system : CIS) ที่นับวันจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  • Wagner, Karen A., Frances W. Lee and John P. Glaser (2009). Health Care Information Systems : A Practical Approach for Health Care Management (2th Ed). San Francisco, CA : Jossey-Bass, A Willey Imprint.
  • ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และโรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย)