ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 130 : การบริหารบัญชีลูกหนี้

จำนวนเงินสำหรับค่าบริการทั้งหมด (Revenue) รวมทั้ง ค่าบริการวิชาชีพ (Professional fee) หักด้วยเงินที่ได้รับชำระ (Cash Receipts) แล้ว เรียกว่า บัญชีลูกหนี้ (Accounts Receivable) เมื่อได้มีการขอเบิกจ่าย (Claim) ต้องมีการตั้งบัญชีลูกหนี้ ในบัญชีของโรงพยาบาล และเมื่อได้รับการขอเบิกจ่าย กองทุนของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือบริษัทประกันสุขภาพ ก็เริ่มกระบวนการตรวจสอบ

กระบวนการดังกล่าวได้แก่ บริการที่ผู้ป่วยได้รับสิทธิ์การคุ้มครอง (Coverage) และขอบเขตจำกัด (Limit) ของผลประโยชน์ และของการปฏิเสธการเบิกจ่าย (Denial) ในกรณีหลัง โรงพยาบาลจะทบทวนรหัสของการปฏิเสธการเบิกจ่าย เพื่อค้นหาสาเหตุ และแก้ไขข้อผิดพลาด

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยสามารถมีการประกันสุขภาพเพิ่มเติม (Secondary insurance) ในกรณีเช่นนี้ บริษัทประกันสุขภาพ ต้องรับผิดชอบค่าบริการในส่วนที่มิได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน ดังนั้น โรงพยาบาลจะเรียกเก็บเพิ่มเติมจากบริษัทประกันสุขภาพดังกล่าวในส่วนที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้เต็มจำนวน จากการประกันสุขภาพในครั้งแรก (Primary insurance) ของรัฐหรือเอกชน

ในทางปฏิบัติ ปัญหาของการเบิกจ่าย สามารถแยกแยะออกเป็น 5 ประเภทตามความเสี่ยง อันได้แก่ความเสี่ยงที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตาม (1) ข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันสุขภาพ (Insurance policy) (2) การลงรหัสที่ถูกต้อง (3) แนวทางปฏิบัติ (Guideline) ของการเรียกเก็บ (Billing) ที่เหมาะสม (4) บริการที่จำเป็นและสมเหตุผล และ (5) เอกสาร (Documentation) ที่ครบถ้วนและถูกต้อง เมื่อแยกแยะประเภทแล้ว โรงพยาบาลดำเนินการป็นขั้นตอนในการแก้ไขปัญหา แล้วขอเบิกจ่ายใหม่ได้เพื่อขอเรียกเก็บเพิ่มเติม

การวิเคราะห์บัญชีลูกหนี้อย่างเป็นระบบ รวมถึงการจัดระเบียบตามลำดับอายุ (Aging) การค้างชำระ นั้นโดยปรกติจะแบ่งช่วงเวลาที่ค้างหนี้ 30 วัน 60 วัน 90 วัน 120 วัน และเกิน 120 วัน ในทางปฏิบัติ บัญชีลูกหนี้ที่มีอายุยิ่งยาวนาน จะมีโอกาสยิ่งน้อยลงในการได้รับชำระ หรือได้รับการเบิกจ่าย

ในกรณีที่ไม่ได้รับการตอบสนอง จาการถูกปฏิเสธการเบิกจ่ายหรือได้รับการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าการเรียกเก็บเงิน โรงพยาบาลสามารถอุทธรณ์ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด และตามแนวทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงิน อาจต้องตรวจสอบดูว่า ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบยอดเงินส่วนต่างที่เหลือ หรือไม่

เมื่อได้รับเงินจากแหล่งต่างๆ ที่คาดหวัง รวมทั้งจากผู้ป่วยแล้ว ก็จะปิดยอดบัญชี หลังจากที่เรียกเก็บไม่ได้ หรือเรียกเก็บไม่ครบ ก็ต้องตัดเป็นหนี้สูญ (Write-off) ไป ทางเลือกการเก็บเงินอื่นๆ ได้แก่ การบังคับการชำระเงินผ่านการฟ้องร้องคดีในศาล หรือการขายบัญชีลูกหนี้ให้บริษัทที่รับไปติดตามทวงหนี้ให้ โดยเสียค่าบริการเป็นครั้งๆ ไป

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed).Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)