บุหรี่ไฟฟ้า (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

ควันบุหรี่มือสอง (Secondhand Smoke)

  • ควันบุหรี่มือสอง เป็นการสูดควันบุหรี่เข้าปอดโดยคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่โดยพ่อแม่จะมีผลร้ายต่อลูก รวมถึงการที่ลูกมีอาการกำเริบของภูมิแพ้ (Exacerbation of asthma) การติดเชื้อของหวัดและหูอยู่เป็นประจำ การหลับไม่ตื่นในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome = SIDS) ในแต่ละปีสหรัฐอเมริกามีผู้มีอาการภูมิแพ้จากควันบุหรี่มือสองมากกว่า 202,000 ราย มีการติดเชื้อในหูส่วนกลาง ประมาณ 790,000 ราย และเด็กเสียชีวิตเพราะการหลับไม่ตื่นประมาณ 430 ราย
  • สารนิโคตินเป็นสารเสพติดซึ่งเมื่อสูบควันเข้าไปแล้วสารนี้จะไปสู่สมองได้ไวกว่าการฉีดยาเข้าหลอดเลือด
  • ปัจจุบัน FDA ได้อนุญาตยา 7 ชนิด ที่ช่วยในการเลิกบุหรี่ ซึ่งได้แก่ แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน (Nicotine patches) หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคติน (Nicotine gum) ลูกอมนิโคติน (Nicotine lozenges) นิโคตินชนิดสเปรย์พ่นจมูก (Nicotine nasal spray) นิโคตินชนิดสูดพ่นทางปาก (Nicotine inhaler) ยาเม็ด Buproprion SR (Zyban) และยาเม็ด Varenicline tartrate (Chantix)

ควันบุหรี่มือสาม (Thirdhand Smoke)

  • ควันบุหรี่มือสาม เป็นการสูดสารนิโคตินและสารเคมีที่หลงเหลืออยู่ตามที่ต่างๆ ภายหลังที่มีการสูบบุหรี่ โดยสารเหล่านี้จะทำปฎิกริยากับสารพิษ (Pollutant) ภายในห้องแล้วเกิดเป็นสารมลพิษขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่โดยเฉพาะเด็กๆ
  • จากผลการศึกษาพบว่าควันบุหรี่มือสามจะติดอยู่ตาม ผม ผิวหนัง เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ม่าน กำแพง เตียงนอน พรม ฝุ่น พาหนะ และพื้นผิวต่างๆ แม้ว่าจะมีการเลิกสูบบุหรี่ไปนานแล้วก็ตาม เด็กทารก เด็ก และผู้ใหญ่ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ อาจจะได้รับความเสี่ยงในปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับบุหรี่เมื่อมีการสูดหรือสัมผัสกับควันบุหรี่มือสาม ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องถึงอันตรายที่อาจเกิดจากควันบุหรี่มือสาม
  • ควันบุหรี่มือสามไม่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธีการเปิดห้อง หน้าต่าง พัดลม หรือแอร์ เพื่อให้อากาศถ่ายเท ควันบุหรี่มือสามยังคงอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลานาน ทางที่อาจจะช่วยให้ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่พ่นจากควันบุหรี่มือสามได้ก็คือ การจัดสถานที่ปลอดบุหรี่ ทั้งที่บ้าน สถานที่สาธารณะ โรงแรม ภัตตาคาร ฯลฯ

นอกจากนิ้การสูบบุหรี่ยังเป็นการเร่งให้ผิวหนังดูแก่ลงกว่าปกติ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังอาจจะเกิดขึ้นหลังการสูบบุหรี่เพียง 10 ปี ยิ่งมีการสูบบุหรี่มากและยิ่งสูบเป็นระยะเวลานาน ผิวหนังจะเกิดริ้วรอยมากขึ้นเท่านั้น แม้ว่าการสูบบุหรี่ในระยะแรกอาจจะไม่ค่อยเห็นว่าผิวหนังถูกทำลายก็ตาม

ไม่เพียงแต่ผิวหน้าเท่านั้นที่ปรากฏเป็นริ้วรอย การสูบบุหรี่ยังเป็นการเพิ่มริ้วรอยและทำลายผิวหนังในส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วย ทั้งนี้เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดในส่วนนอกสุดของผิวหนังตีบลง ทำให้เลือดไหลผ่านผิวหนังได้ยาก

เมื่อมีเลือดไหลผ่านน้อยลง ผิวหนังจะได้รับออกซิเจนและสารอาหาร เช่น วิตามินเอ ไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นสารเคมีมากกว่า 4,000 ตัว ที่อยู่ในบุหรี่ยังทำลายคอลลาเจน (Collagen) และอีลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นเส้นใยที่ทำให้ผิวหนังแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดี ดังนั้นผิวหนังจึงย้อยลงและเป็นริ้วรอยอย่างถาวรเพราะการสูบบุหรี่

นอกจากนี้ความร้อนจากการจุดบุหรี่และการแสดงสีหน้าที่เกิดขึ้นขณะสูบบุหรี่ เช่น การทำปากจู๋เมื่อดูดบุหรี่และหรี่ตาเมื่อพ่นออกก็อาจทำให้เกิดริ้วรอยที่หน้าได้เช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. Smoking: Does it cause wrinkles? http://www.mayoclinic.com/health/smoking/AN00644 [2013, October 27].
  2. General Smoking Facts. http://www.lung.org/stop-smoking/about-smoking/facts-figures/general-smoking-facts.html [2013, October 27].