บุหรี่ไฟฟ้า (ตอนที่ 2)

เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างแปลกใหม่และมีความเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายยาและยาสูบ ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศจึงยังคงชะลอการพิจารณาออกไป บางประเทศก็ไม่มีการควบคุม ในขณะที่บางประเทศก็มีคำสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด

ศาลรัฐบาลกลาง (Federal Court) ของสหรัฐได้มอบอำนาจให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (The Food and Drug Administration = FDA) เป็นผู้ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าภายใต้กฏหมายยาสูบมากกว่าการที่จะถือเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งนี้เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินซึ่งทำจากใบยาสูบ

อย่างไรก็ดี Erika Seward รองประธานสมาคมปอดของอเมริกา (National advocacy for the American Lung Association) กล่าวว่า ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการควบคุมที่จริงจังจากภาครัฐแต่อย่างใด เธอกล่าวต่อไปว่า สินค้ายาสูบจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาเรื่อยๆ เพื่อทำให้น่าดูและเพื่อหลอกล่อเด็ก เช่น มีการแต่งกลิ่นและรสเป็นลูกกวาด ผลไม้ เป็นต้น

ในปี พ.ศ.2554 มีวารสารฉบับหนึ่งที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจจะใช้ช่วยในการเลิกบุหรี่ได้ โดยผลการวิจัยฉบับหนึ่งกล่าวว่า ร้อยละ 31 ของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน 6 เดือน และอีกร้อยละ 67 สามารถลดการสูบบุหรี่จริงได้

ตามหลักทฤษฎีแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าน่าจะมีความเป็นพิษ (Toxic) น้อยกว่าบุหรี่ที่ใช้สูบจริง อย่างไรก็ดีจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลใดที่สนับสนุนทฤษฎีนี้อยู่ดี นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าน่าจะให้สารนิโคตินน้อยกว่าการสูบบุหรี่จริง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับบุหรี่ไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อด้วย

จากการวิเคราะห์เบื้องต้นของ FDA ในปี พ.ศ.2552 ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดมีส่วนผสมของสารก่อมะเร็งกลุ่ม Tobacco-specific nitrosamines (TSNAs) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในกระบวนการเก็บการผลิต การหมัก และกระบวนการเผาไหม้ของใบยาสูบ นอกจากนี้ยังตรวจพบสารไดเอทธิลีนไกลคอล (Diethylene glycol) ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร และของเหลวประเภทไฮโกรสโคบิค (Hygroscopic liquid)

บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ประกอบด้วยส่วนประกอบรูปร่างเพรียวที่สามารถแยกส่วนได้ ในขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้งจะเป็นชิ้นเดียวติดกันไม่สามารถแยกส่วนได้ โดยบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบดังนี้

  • ลำกล้อง (Cartridge) ซึ่งใช้เป็นตัวเก็บของเหลวและที่ใช้ปากสูบ โดยออกแบบให้เป็นที่เปลี่ยนของเหลวให้เป็นละออง ซึ่งไอระเหยจากละอองนี้จะไหลเข้าสู่ปากผู้สูบ เมื่อของเหลวหมดก็จะมีการเปลี่ยนลำกล้องที่บรรจุของเหลวใหม่
  • ที่เปลี่ยนของเหลวให้เป็นละออง (Atomizer) เป็นส่วนประกอบตรงกลาง โดยทั่วไปจะประกอบด้วยเครื่องทำความร้อนเพื่อให้ของเหลวกลายเป็นละอองและเชือกเดินน้ำยาหรือไส้เทียนที่ค่อยๆ หยดของเหลวให้ชุ่ม
  • ก้นกรอง (Cartomizer) ซึ่งประกอบด้วยวัตถุที่นำความร้อนและพันด้วยโปลีโฟมที่ชุ่มด้วยของเหลว
  • แบตเตอรี่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นแบตเตอรี่ที่ชาร์ทได้หลายครั้ง (Rechargeable battery) ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบุหรี่ไฟฟ้า บางรุ่นอาจจะมีตัวตัดไฟในขณะที่บางรุ่นใช้ปุ่มเปิดปิด หรือใช้เป็นหลอดไฟ LED
    • แหล่งข้อมูล:

      1. 5 Things You Need to Know About E-Cigarettes. http://abcnews.go.com/Health/facts-cigarettes/story?id=20345463 [2013, October 24].
      2. Electronic cigarette. http://en.wikipedia.org/wiki/Electronic_cigarette [2013, October 241].