บีโคลเมทาโซน (Beclomethasone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบีโคลเมทาโซน (Beclomethasone) เป็นยาตัวหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์(Glucocorticoid) ถูกนำมาผลิตเป็นยาพ่น - สเปรย์ เพื่อรักษาอาการโรคหืด อาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจอาทิ ไข้ละอองฟางและภาวะไซนัสอักเสบ รวมถึงใช้รักษาอาการของแผลร้อนใน (Aphthous ulcers) สำหรับรูปแบบที่เป็นยาครีม ยาขี้ผึ้ง ใช้ทาเพื่อรักษาอาการอักเสบทางผิวหนังเช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับโรคสะเก็ดเงิน (Psoria sis) ด้วยก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นใหม่หลังจากหยุดใช้ยา

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยานี้เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายพบว่า ตัวยาประมาณ 87% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือด และถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีโดยเอนไซม์ที่มีชื่อว่า เอสเทอเรส (Esterase, เอนไซม์ที่มีหน้าที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงทางเคมีของสารต่างๆหลายชนิด) ซึ่งพบได้ตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย โดยปกติคนเราต้องใช้เวลาประมาณ 2.8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาบีโคลเมทาโซน 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ด้านผลข้างเคียงเด่นๆของยานี้ โดยเฉพาะยาพ่นสเปรย์เข้าปาก - จมูกที่มักพบเห็นได้แก่ ก่อให้เกิดอาการไอ และส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) ในโพรงจมูก ปากและคอได้ง่าย เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราดังกล่าว แพทย์จะแนะนำให้บ้วนปากหลังการพ่นยาสักพักหนึ่ง

ยาบีโคลเมทาโซนเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกรับรองและระบุให้มีไว้ในสถานพยาบาล ซึ่งเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย ก่อนการใช้ยาจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้วินิจฉัยคัดกรองการใช้กับผู้ป่วยเท่านั้น

บีโคลเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

บีโคลเมทาโซน

ยาบีโคลเมทาโซนมีสรรพคุณดังนี้เช่น

  • รักษาภาวะจมูกอักเสบ มีภาวะคั่งของน้ำมูก
  • รักษาอาการโรคหืด
  • รักษาอาการอักเสบทางผิวหนังโดยใช้ในรูปยาครีม ยาขี้ผึ้งทาภายนอก

บีโคลเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบีโคลเมทาโซนคือ ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อจากการมาชุมนุมของเม็ดเลือดขาวรวมถึงเซลล์ที่มีชื่อว่า ไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงด้านการลำเลียงสารเคมีต่างๆที่หลอดเลือดฝอย และเพิ่มความคงตัวของไลโซโซม (Lyso some) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ย่อยสลายอนุภาคหรือเซลล์ที่ตายแล้ว จากกลไกเหล่านี้ทำให้ยาบีโคลเมทาโซนมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

บีโคลเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบีโคลเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น

  • ยาพ่นปาก ขนาดความแรง 50, 200 และ 250 ไมโครกรัม
  • ยาพ่นจมูก ขนาดความแรง 50 และ 100 ไมโครกรัม
  • ยาครีมใช้ทาภายนอก ขนาดความเข้มข้น 0.025 % (0.25 มิลลิกรัม/กรัม)

บีโคลเมทาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาบีโคลเมทาโซนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาขึ้นกับอาการของแต่ละโรค จึงขึ้นกับดุลพิ นิจของแพทย์ในการใช้ยา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยาสำหรับรักษาอาการหอบเหนื่อย/หายใจลำบากจากโรคหืดดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่: พ่นเข้าทางปากครั้งละ 200 - 400 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า – เย็น หากจำเป็น อาจปรับขนาดการใช้ยาเป็น 1,600 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 6 - 12 ปี: พ่นเข้าทางปากครั้งละ 200 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจปรับขนาดการพ่นยาเป็น 800 ไมโครกรัม/วันโดยปรับการพ่นเป็น 2 - 4 ครั้ง อนึ่ง ขนาดการใช้ยาข้างต้นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก สามารถปรับลดการใช้ยาลงเมื่ออาการหอบหืดดีขึ้นแต่ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดของการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบีโคลเมทาโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาบีโคลเมทาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยา/ทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมพ่นยา/ทายาบีโคลเมทาโซนสามารถพ่นหรือทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการพ่นหรือทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

บีโคลเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบีโคลเมทาโซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น อาจพบการติดเชื้อรากลุ่มแคนดิดาภายในช่องปาก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เชื้อราช่องปาก) รวมถึงที่กล่องเสียงและในคอ ไอ เจ็บคอ มีภาวะเสียงแหบ ระคายเคืองในลำ คอ อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อยกว่าเช่น ผื่นคัน ลมพิษ ผิวเป็นจ้ำบวม และมีภาวะหลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้บีโคลเมทาโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบีโคลเมทาโซนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้เป็นวัณโรคปอด
  • ผู้ป่วยควรได้รับการฝึกการใช้ยาพ่นจากสถานพยาบาล ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจในการใช้งาน รวมถึงประสิทธิผลของการรักษา
  • ยาบีโคลเมทาโซนไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการโรคหืดแบบเฉียบพลัน แต่เหมาะใช้ในการรักษาแบบป้องกัน ด้วยผลการรักษาของยานี้จะแสดงฤทธิ์ได้ดีเมื่อใช้ยาไปแล้ว 2 - 3 วัน
  • หลังการพ่นยานี้สักพัก ควรบ้วนน้ำล้างปากเพื่อลดภาวะการติดเชื้อราภายในช่องปากและลำคอ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เชื้อราช่องปาก)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ทดลอง อีกทั้งยังขับผ่านออกมากับน้ำนมมารดาได้อีกด้วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบีโคลเมทาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บีโคลเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบีโคลเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบีโคลเมทาโซนร่วมกับยา Mifepristone ด้วยจะเกิดการรบกวนและลดฤทธิ์ในการรักษาของบีโคลเมทาโซน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดและความถี่ของการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยาบีโคลเมทาโซนร่วมกับยาบางกลุ่มสามารถเพิ่มความรุนแรงจากอาการข้างเคียงของยาบีโคลเมทาโซนเช่น ตัวบวม น้ำหนักเพิ่ม ความดันโลหิต และน้ำตาลในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึมเศร้า มีสิวขึ้น ผิวหนังบาง กระดูกพรุน เกิดต้อกระจก ประจำเดือนผิดปกติ (ในสตรี) และอื่นๆ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดและความถี่ของการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป และยากลุ่มดังกล่าวเช่น Amprenavir, Atazanavir, Boceprevia, Fosamprenavir, Ritonavir, Ketoconazole, Itraconazole, Clarithromycin และ Erythromycin

ควรเก็บรักษาบีโคลเมทาโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาบีโคลเมทาโซนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่อง แช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

บีโคลเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบีโคลเมทาโซนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Beclomet Easyhaler (บีโคลเมท อีซีฮาเลอร์) Orion
Beclomet Nasal Aqua (บีโคลเมท นาซอล อควา) Orion
Beclomethasone Jewim (บีโคลเมทาโซน เจวิม) Jewim
Beclosal (บีโคลซอล) Medispray
Beconase Aqueous (บีโคนาส เอเควียส) GlaxoSmithKline
Bemase (บีแมส) Okasa Pharma
Clenil (คลีนิล) Chiesi
Qvar (คิววาร์) iNova
Rino Clenil (รีโน คลีนิล) Chiesi

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Glucocorticoid[2015,May9]
  2. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=beclomethasone [2015,May9]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Beclometasone_dipropionate[2015,May9]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Lysosome#Function_and_structure[2015,May9]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Beclomet%20Easyhaler/?type=full#Indications[2015,May9]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/beclomethasone-index.html?filter=3&generic_only=[2015,May9]
  7. http://www.mimaki-family-japan.com/products/detail.php?product_id=33085[2015,May9]