“บิ๊กอายส์” ทำพิษ ติดเชื้ออาจตาบอด (ตอนที่ 4)

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ. พระนั่งเกล้า กล่าวต่อไปว่า กรณีผู้ป่วยรายล่าสุดที่พบเป็นหญิงอายุ 18 ปี ไปซื้อบิ๊กอายส์จากห้างสรรพสินค้าเมื่อใส่ไปแล้วพบว่า ตาขวามีอาการแสบ ระคายเคือง และน้ำตาไหลต่อเนื่อง จึงได้ขยี้ตา และถอดบิ๊กอายส์ออก ผู้ป่วยรายนี้โชคดีที่มาพบแพทย์ได้ทันทำให้ตาไม่บอด

ต่อมาช่วงเย็นได้มีอาการตาบวม จึงเข้ามาพบแพทย์ที่ รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งจากการตรวจทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณแก้วตาดำข้างขวา โดยเชื้อแบคทีเรียได้กัดกินบริเวณแก้วตาดำมีแนวยาว 5 มิลลิเมตร และลึกลงไปประมาณ 1 มิลลิเมตร จนเกือบทะลุแก้วตาดำ

ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่พบนั้นมีชื่อว่า “ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า (Pseudomonas aeruginosa)” ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ตามสภาพแวดล้อมทั่วไป หากมีบาดแผลแล้วเกิดติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะมีอันตรายมาก จนอาจตาบอดได้ และเมื่อรักษาจนหายแล้วจะเกิดแผลเป็นที่ตาดำ ส่งผลให้เวลามองแล้วจะไม่ชัดเหมือนคนปกติ

ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ในคนและสัตว์ พบในดิน น้ำ หรือที่ผิวหนัง (Skin flora) เจริญเติบโตได้ทั้งในภาวะปกติ และในภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxic atmospheres) สามารถทำลายเนื้อเยื่อหรือลดภูมิต้านทานลงได้

โดยทั่วไปอาการติดเชื้อจะแสดงออกในลักษณะของการอักเสบ (Inflammation) และ การติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย (Sepsis) หากเกิดการติดเชื้อในอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด ทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract) และไต สามารถทำให้เสียชีวิตได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียนี้เจริญเติบโตได้ในทุกพื้นผิว

ดังนั้น เชื้อนี้จึงสามารถพบได้บนเครื่องมือการแพทย์ (Medical equipment) ซึ่งรวมถึงหลอดสวน (Catheters) ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาลและคลีนิคได้ ซึ่งตามปกติ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลร้อยละ 10 มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคซิสติกไฟโบซิส (Cystic fibrosis : CF) ซึ่งเป็นโรคพันธุกรรมชนิดหนึ่ง อาจเป็นช่องทางให้เกิดการติดเชื้อซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า ที่ปอด เชื้อนี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผื่นแพ้สัมผัส (Hot-tub rash / dermatitis) หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa) การติดเชื้อในแผลไฟไหม้ (Burn injuries) และการติดเชื้อในกระแสเลือด (Blood infections)

นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ยังเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ผ่ากระจกตา (Radial keratotomy) โรคที่ผิวหนัง (Ecthyma gangrenosum ) กระดูกอักเสบจากการติดเชื้อ (Osteomyelitis) และ ที่ระดับสารฟอสเฟต (Phosphate) ที่ต่ำ เชื้อนี้อาจทำให้เกิดพิษในระบบลำไส้ที่ทำให้เสียชีวิตได้ โดยมันจะทำลายหรือฆ่าเซลล์ ทั้งนี้ สามารถรักษาได้ด้วยการให้สารฟอสเฟตที่มากขึ้นแทนการให้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

ชั้นบางๆ ที่ติดอยู่กับพื้นผิวของโครงสร้าง (Biofilms) ของเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ทำให้เกิดการติดเชื้อแบบเรื้อรังในการรักษา โดยเฉพาะกับคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันหย่อนสมรรถภาพ (Immuno-compromised) และคนไข้สูงอายุ ซึ่งมักจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะแบบดั้งเดิมไม่ได้ผล เนื่องจากไบโอฟิลม์จะช่วยปกป้องเชื้อแบคทีเรียนี้จากสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อเชื้อ ทำให้เกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้

แหล่งข้อมูล:

  1. “บิ๊กอายส์” ทำพิษ! สาว 18 ซื้อใส่เองจนติดเชื้อเกือบตาบอด http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000083641 [2012, July 17].
  2. Pseudomonas aeruginosa. http://en.wikipedia.org/wiki/Pseudomonas_aeruginosa [2012, July 17].