บิวทีนาฟีน (Butenafine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบิวทีนาฟีน(Butenafine หรือ Butenafine hydrochloride หรือ Butenafine HCl) เป็นสารประกอบที่นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อทำเป็นยาต้านเชื้อราประเภทเกลื้อน ฮ่องกงฟุต กลาก และการติดเชื้อราบริเวณข้อพับต่างๆ สูตรเคมีของยานี้ คือ C23H27N ตัวยานี้มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์ม รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยาทาภายนอกเฉพาะที่ ประเภทครีม ขนาดความเข้มข้น 1% ในต่างประเทศ ประชาชนสามารถหาซื้อยานี้ได้จากร้านขายยาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งจากแพทย์ (ยาโอทีซี)

ยาบิวทีนาฟีนมีกลไกการต่อต้านเชื้อราโดยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโต และค่อยๆตายลงในที่สุด โดยทั่วไป การใช้ยาบิวทีนาฟีนทาผิวหนังรักษาเชื้อรา จะต้องใช้ระยะเวลา 1–4 สัปดาห์ อาจใช้ยาในแต่ละวันเพียง1–2ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อราและความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ยาบิวทีนาฟีนเป็นยาที่ใช้ได้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

ยังมีข้อจำกัดการใช้ยาบิวทีนาฟีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบิวทีนาฟีนกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ปิดทับบริเวณผิวหนังที่มีการทายานี้ นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามทายานี้ในบริเวณเล็บและหนังศีรษะ
  • ห้ามมิให้ยาครีมบิวทีนาฟีน เข้าปาก ตา อวัยวะเพศ และจมูก ด้วยจะทำให้เกิดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆตามมา

การใช้ยาบิวทีนาฟีน อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางประการอย่างเช่น มีอาการ แดง แสบคัน บริเวณผิวหนังที่ทายา โดยทั่วไป อาการเหล่านี้จะทุเลาและหายไปได้เองเมื่อหยุดใช้ยานี้

ผู้ที่ใช้ยาบิวทีนาฟีนในการรักษาเชื้อรา จะต้องทายานี้ต่อเนื่องจนครบคอร์ส(Course)ของการรักษา ถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกลับมาเป็นโรคซ้ำ การปฏิบัติตัวให้มีสุขลักษณะอนามัยส่วนบุคคลที่เหมาะสม ย่อมเป็นการป้องกันการติดเชื้อราได้เป็นอย่างดี การใช้ยารักษา/ยาต้านเชื้อราล้วนแต่เป็นเรื่องปลายทาง

อนึ่ง หากต้องการข้อมูลการใช้ยาบิวทีนาฟีนเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่สั่งจ่ายยานี้ หรือสอบถามจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

บิวทีนาฟีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

บิวทีนาฟีน

ยาบิวทีนาฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนังประเภท กลาก เกลื้อน ฮ่องกงฟุต(โรคน้ำกัดเท้า) เชื้อราตามข้อพับ หรือ ขาหนีบ โดยมากมักมีสาเหตุมาจากเชื้อราชนิด Malassezia furfur, Epidermophyton floccosum, Trichophyton mentagrophytes, Trichophyton rubrum, Trichophyton tonsurans

บิวทีนาฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบิวทีนาฟีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในเชื้อราที่มีชื่อเรียกว่า Squalene epoxidase เอนไซม์นี้มีหน้าที่ต่อกระบวนการสังเคราะห์สารที่มีชื่อว่า Ergosterol ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ในเชื้อรา จากกลไกนี้ ส่งผลให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโต และตายลงในที่สุด

บิวทีนาฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบิวทีนาฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาครีมทาผิวภายนอก ที่ประกอบด้วยยา Butenafine HCl ขนาดความเข้มข้น 1%

บิวทีนาฟีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาบิวทีนาฟีน ใช้ได้เฉพาะกับ “ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป” โดยมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.รักษาเกลื้อน (Tinea Versicolor): ทายาบริเวณผิวหนังที่เป็นเกลื้อน วันละ 1 ครั้งติดต่อกัน 2 สัปดาห์

ข.รักษากลาก (Tinea Pedis): ทายาวันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็นต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ หรือ ทายาวันละครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์

ค.รักษากลากที่ลำตัว (Tinea Corporis): ทายาวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง

ง.รักษากลากที่ขาหนีบ (Tinea Cruris): ทายาวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์

อนึ่ง:

  • ควรทายานี้ต่อเนื่องตรงตามเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • ล้างมือก่อนและหลังทายานี้เสมอ
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อราซ้ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ รักษาการติดเชื้อราที่เล็บหรือที่หนังศีรษะ ด้วยบริเวณดังกล่าวมีลักษณะทางกายภาพที่ไม่เอื้อต่อกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบิวทีนาฟีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคผิวหนัง หรือมีบาดแผลตามผิวหนังรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบิวทีนาฟีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยา/ทายาบิวทีนาฟีน สามารถทายาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า ให้ทายาในปริมาณปกติ

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรทายาบิวทีนาฟีน ตรงเวลาในแต่ละวัน

บิวทีนาฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ด้วยยาบิวทีนาฟีนเป็นยาทาภายนอกเฉพาะที่ เราจึงพบเห็นผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่อาจเกิดขึ้นได้ เฉพาะในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสยานี้เท่านั้น เช่น มีอาการ แสบ คัน ระคายเคือง อาจมีอาการแดงร่วมด้วย ซึ่งโดยทั่วไป อาการเหล่านี้จะหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยานี้

มีข้อควรระวังการใช้บิวทีนาฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบิวทีนาฟีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามกลืนยานี้และต้องระวังหลีกเลี่ยงมิให้ยานี้เข้า ตา จมูก ปาก
  • ห้ามทายานี้ในบริเวณอวัยวะเพศ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพบบรจุภัณฑ์ของยาชำรุด เช่น ฉีกขาด
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ทายานี้ต่อเนื่องในแต่ละวัน และต้องทาจนครบตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดถึงแม้อาการจะดีขึ้นก็ตาม
  • หากใช้ยานี้ตรงตามคำสั่งของแพทย์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น ตัวบวม ใบหน้า–คอ–ลิ้น–ปากบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีลมพิษหรือผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบิวทีนาฟีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

บิวทีนาฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยเป็นยาทาภายนอกและทาเฉพาะที่ จึงยังไม่พบเห็นปฏิกิริยาระหว่างยาบิวทีนาฟีนกับยารับประทานชนิดใดๆ แต่หากพบว่าการใช้ยาบิวทีนาฟีนร่วมกับยาอื่นแล้วทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมา ควรต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อบำบัดรักษาอาการดังกล่าว

ควรเก็บรักษาบิวทีนาฟีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาบิวทีนาฟีน ในช่วงอุณหภูมิ 5–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

บิวทีนาฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบิวทีนาฟีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/บริษัทผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mentax (เมนแทกซ์)DPT Laboratories
Lotrimin Ultra (โลทริมิน อัลตร้า)Bayer HealthCare LLC.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Butenaskin, Butop, Fintop

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/ppa/butenafine.html[2017,March18]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/butenafine/?type=brief&mtype=generic[2017,March18]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Butenafine[2017,March18]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2002/21408lbl.pdf[2017,March18]
  5. file:///C:/Users/apai/Downloads/20170208_36f09b0c-454a-4489-92be-8e6902874a74%20(1).pdf[2017,March18]