บอร์ทีโซมิบ (Bortezomib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบอร์ทีโซมิบ (Bortezomib) เป็นยาในกลุ่ม Proteasome inhibitor ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma) ตัวยาบอร์ทีโซมิบเป็นยารักษาตรงเป้าจึงมีความจำเพาะเจาะจงออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งมัยอีโลมามากกว่าเซลล์ปกติจึงถือเป็นผลดีต่อร่างกายผู้ป่วย

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาบอร์ทีโซมิบ เป็นแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการต่อต้านและรักษามะเร็งมัยอีโลมาแพทย์จำเป็นต้องใช้ยาบอร์ทีโซมิบร่วมกับยา Melphalan และ Prednisone

อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยบอร์ทีโซมิบได้ เช่น

  • สตรีมีครรภ์
  • ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของการทำงานในระบบประสาทส่วนปลาย
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะติดเชื้อในปอด
  • ผู้ป่วยโรคตับ เป็นต้น

การใช้ยาบอร์ทีโซมิบให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งมัยอีโลมาสูงสุด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยโดยมารับการฉีดยาตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง ระยะเวลาของการใช้ยาจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

  • เมื่อเริ่มการให้ยาในช่วงแรกผู้ป่วยจะต้องได้รับยาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  • ในการรักษาระยะที่ 2 ผู้ป่วยได้รับยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • สาเหตุที่แพทย์จำเป็นต้องเว้นระยะห่างของการให้ยาเป็นช่วงๆนั้นมีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัย เช่น

    • ความรุนแรงของโรค
    • ความสามารถในการกำจัดยาออกจากร่างกายของผู้ป่วย
    • ผลข้างเคียงจากยานี้ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีผลข้างเคียงที่ต่างกันออกไป
    • การตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย

    ยาบอร์ทีโซมิบเป็นยาควบคุมพิเศษซึ่งต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์แต่ผู้เดียว เราจึงพบเห็น การใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งเท่านั้น ยานี้มีการจัดจำหน่าย ภายใต้ชื่อการค้าว่า Velcade

    อนึ่ง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาบอร์ทีโซมิบ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษา

    บอร์ทีโซมิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

    บอร์ทีโซมิบ

    ยาบอร์ทีโซมิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

    • ใช้รักษาโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมาหรือมะเร็งเอ็มเอ็ม (MM: Multiple myeloma)

    บอร์ทีโซมิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

    ยาบอร์ทีโซมิบเป็นยาประเภท Proteasome inhibitor มีกลไกการออกฤทธ์โดยตัวยานี้จะเข้ายับยั้งการทำงานของ Proteasome(Protein สำคัญในการทำงานของเซลล์) ซึ่งมีหน้าที่ตัดทำลายสายโปรตีนเพื่อให้ได้โปรตีนที่มีขนาดเล็ก โปรตีนที่ได้รับการตัดต่อดังกล่าวเหมาะต่อเซลล์มะเร็งที่จะนำไปใช้ในการขยายตัว/การแบ่งตัว การปิดกั้นหน้าที่ของProteasome ของเซลล์มะเร็ง จะทำให้เกิดสายโปรตีนที่เซลล์มะเร็งไม่สามารถนำไปใช้ได้มากขึ้นเรื่อยๆและก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตัวเซลล์มะเร็ง ด้วยกลไกปิดกั้นการทำงานของ Proteasome นี้เอง จึงทำให้เซลล์มะเร็งหมดความสามารถในการแพร่กระจายและฝ่อตัวสลายไปในที่สุด

    บอร์ทีโซมิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

    ยาบอร์ทีโซมิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

    • ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อที่ประกอบด้วยตัวยา Bortezomib 3.5 มิลลิกรัม/ขวด(vial)

    บอร์ทีโซมิบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

    การใช้ยา/การบริหารยาบอร์ทีโซมิบรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยานี้ได้แก่

    • น้ำหนักตัวของผู้ป่วย
    • รวมถึงอายุและประวัติการเจ็บป่วย
    • หรือโรคประจำตัวต่างๆ
    • และแพทย์อาจใช้ ยาMelphalan และยาPrednisone เป็นยาสนับสนุนการรักษามะเร็งดังกล่าวให้หายเร็วขึ้น

    *อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ได้รับยาบอร์ทีโซมิบ แล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น

    • มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส(Celsius)
    • อุจจาระมีสีคล้ำหรือมีเลือดปน
    • อึดอัด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีอาการเจ็บหน้าอก เกิดขึ้น
    • คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร
    • อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
    • ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
    • ไม่มีแรงหรืออ่อนเพลียอย่างรุนแรง
    • มีภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกาย

    ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับบอร์ทีโซมิบ?

    การดูแลตนเองขณะได้รับยาบอร์ทีโซมิบ เช่น

    • ยาบอร์ทีโซมิบ อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนหรือวิงเวียน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรขณะมีอาการดังกล่าว เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
    • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวันหรือเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
    • ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค
    • หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหารให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้ ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยสามารถปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆแต่บ่อยครั้งขึ้นเพื่อลดอาการคลื่นไส้ ดังกล่าว
    • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
    • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมหนักที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็น แผลเลือดออก
    • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
    • พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน ตามที่แพทย์ พยาบาล แนะนำ

    เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

    เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบอร์ทีโซมิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

    • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
    • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบอร์ทีโซมิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
    • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

    หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

    หากลืมมารับการฉีดยา ต้องรีบแจ้งให้แพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทราบ และรีบทำการนัดหมายการให้ยานี้ครั้งต่อไปโดยเร็ว

    แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรมารับการให้ยาบอร์ทีโซมิบตรงตามเวลาที่แพทย์นัดหมาย

    บอร์ทีโซมิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

    ยาบอร์ทีโซมิบอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

    • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน มีอาการไอ
    • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีไข้ วิงเวียน
    • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก เบื่ออาหาร ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก
    • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ใบหน้าบวม บวมปลายมือเท้าและขา ความดันโลหิตต่ำ
    • ผลต่อระบบการมองเห็น: เช่น เกิดอาการตาพร่า
    • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน
    • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ เกิดภาวะเลือดออกง่าย โลหิตจาง
    • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ
    • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการวิตกกังวล
    • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ

    อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายในแต่ละบุคคล

    *กรณีได้รับยานี้เกินขนาด ซึ่งการช่วยเหลือ โดยแพทย์จะคอยดูแลรักษาตามอาการจนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น อาการที่พบได้เช่น

    • ความดันโลหิตต่ำ
    • เกล็ดเลือดมีปริมาณลดลง

    มีข้อควรระวังการใช้บอร์ทีโซมิบอย่างไร?

    มีข้อควรระวังการใช้ยาบอร์ทีโซมิบ เช่น

    • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
    • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
    • แจ้งแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการตรวจร่างกายว่า ตนเองมีการใช้ยาอะไรบ้าง
    • ป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อต้องรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ยาชนิดต่างๆรวมถึงมะเร็งเอ็มเอ็มนี้
    • ขณะได้รับยาชนิดนี้ ามรับการฉีดวัคซีนใดๆนอกจากมีคำสั่งแพทย์
    • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ตรวจร่างกาย ตรวจภาวะแทรกซ้อน และรับการฉีดยาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
    • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
    • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
    • ห้ามเก็บยาหมดอาย

    ***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบอร์ทีโซมิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

    บอร์ทีโซมิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

    ยาบอร์ทีโซมิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

    • การใช้ยาบอร์ทีโซมิบ ร่วมกับ วิตามินรวม ที่มี วิตามินซีเป็นองค์ประกอบ อาจทำให้ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งของยาบอร์ทีโซมิบลดน้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
    • การใช้ยาบอร์ทีโซมิบ ร่วมกับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคชนิดต่างๆเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ด้วยยาบอร์ทีโซมิบมีผลกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย จึงมีความเสี่ยงที่ทำให้การใช้วัคซีนต่างๆมากระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายไร้ประสิทธิผล และยังอาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อจากวัคซีนนั้นๆตามมา
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบอร์ทีโซมิบ ร่วมกับ ยาPhenobarbital ด้วยตัวยาดังกล่าว จะทำให้ระดับยาบอร์ทีโซมิบในกระแสเลือดลดต่ำ และเป็นผลให้ประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งด้อยลง
    • ห้ามใช้ยาบอร์ทีโซมิบ ร่วมกับ ยาClozapine ด้วยยาดังกล่าวจะกดการเจริญเติบโตของเม็ดเลือดขาว การใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันจะยิ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลงและเป็นเหตุให้มีการติดเชื้อของร่างกายได้มากยิ่งขึ้น

    ควรเก็บรักษาบอร์ทีโซมิบอย่างไร?

    ควรเก็บรักษายาบอร์ทีโซมิบ เช่น

    • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
    • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
    • ยาที่ได้รับการเจือจางเป็นสารละลายพร้อมใช้งาน ต้องจัดเก็บในตู้เย็น ที่มีอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ไม่เกิน 8 ชั่วโมง
    • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

    บอร์ทีโซมิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

    ยาบอร์ทีโซมิบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

    ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
    Velcade (เวลเคด)Takeda

    บรรณานุกรม

    1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/021602s015lbl.pdf[2018,Dec22]
    2. https://en.wikipedia.org/wiki/Bortezomib[2018,Dec22]
    3. https://www.janssen.com/australia/sites/www_janssen_com_australia/files/prod_files/live/velcade_pi.pdf[2018,Dec22]
    4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/velcade[2018,Dec22]
    5. https://www.drugs.com/drug-interactions/bortezomib-index.html?filter=3#M[2018,Dec22]
    6. บทความยาวิตามินรวม มัลติวิตามิน เอ็มทีวี (Multivitamin: MTV) เว็ปไซด์ haamor.com