บลีโอมัยซิน (Bleomycin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบลีโอมัยซิน(Bleomycin หรือ Bleomycin hydrochloride หรือ Bleomycin HCl) เป็นยาอีกหนึ่งตัวของกลุ่มไกลโคเปปไทด์ (Glycopeptide antibiotic) ที่สกัดแยกได้จากแบคทีเรียที่ชื่อว่า Streptomyces verticillus และยังจัดอยู่ในกลุ่มของยาเคมีบำบัด ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฮอดจ์กิน (Hodgkin’s lymphoma), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s lymphoma) มะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer), มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) , มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) และมะเร็งชนิดอื่นๆ ถูกค้นพบในปี ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509)โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Hamao Umezawa

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาบลีโอมัยซินเป็นยาฉีด เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ยาบลีโอมัยซินจะออกฤทธิ์โดยสร้างความเสียหายต่อสารพันธุกรรมหรือ DNA ของเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหยุดการขยายตัวและการแพร่กระจาย ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีคำเตือนหรือข้อควรระวังที่แพทย์จะให้ความสำคัญมากเมื่อต้องใช้ยาบลีโอมัยซิน คือ การเกิดพังผืดในปอด (Pulmonary fibrosis) ของผู้ป่วย ความเสี่ยงดังกล่าวจะยิ่งพบได้มากเมื่อใช้ยาบลีโอมัยซินกับผู้ป่วยโรคไต สำหรับผู้ป่วยด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง(Lymphoma) ยาชนิดนี้จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆในร่างกายได้หลายชั่วโมงซึ่งเป็นเหตุให้มีอาการวิงเวียน รู้สึกสับสน มีไข้ หนาวสั่น หายใจมีเสียงวี๊ด เป็นต้น

สิ่งที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ขณะที่ได้รับยาบลีโอมัยซินมีอยู่หลายประการ เช่น

  • นอกจากโรคมะเร็งแล้ว ผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ถึงโรคประจำตัวอื่นที่เป็นอยู่อย่าง ละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจ และโรคไต
  • รายงานหรือเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว หากพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่สร้างความไม่สุขสบายของร่างกายผู้ป่วย เช่น เกิดแผลในช่องปาก ไอ หายใจขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
  • มาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจเลือด และการตรวจสภาพของปอดตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่อายุ 70 ปีขึ้นไปอาจได้รับผลข้างเคียงจากยานี้มากกว่าผู้ป่วยที่มีอายุ น้อยกว่า กรณีพบเห็นอาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานในชีวิตประจำวัน เช่น เกิดผื่นคัน ปวดท้อง อาเจียน สีผิวหนังเปลี่ยนไป มีไข้ หนาวสั่น ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ขณะได้รับยาชนิดนี้/ยานี้ต้องป้องกันการตั้งครรภ์เสมอ ด้วยตัวยาบลีโอมัยซินสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาบลีโอมัยซินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยอยู่ในกลุ่มยาอันตราย โดยเราจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ในสถานพยาบาลเท่านั้น และต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว

บลีโอมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

บลีโอมัยซิน

ทางคลินิก ยาบลีโอมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้คือ ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s lymphoma), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s lymphoma), มะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer), มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer), มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer), มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer), มะเร็งระบบศีรษะและลำคอ (Head and Neck cancer), มะเร็งปอด (Lung cancer) และ มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer)

บลีโอมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาบลีโอมัยซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง อย่างเช่น DNA ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหมดสภาพการสร้างโปรตีน ไม่สามารถขยายขนาด จึงตายลงในที่สุด

บลีโอมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบลีโอมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วย Bleomycin HCl ขนาด 15 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วย Bleomycin HCl ขนาด 15, 30 และ 15,000 อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิต

บลีโอมัยซินมีขนาดบริหารยาอย่างไร?

เนื่องจากยาบลีโอมัยซินใช้รักษาโรคมะเร็งได้หลากหลายชนิด ซึ่งมีขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันไปในแต่ละโรค ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดบริหารยา/ใช้ยาบลีโอมัยซิน เฉพาะสำหรับมะเร็งผิวหนังชนิด Squamous cell carcinoma และมะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer) เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ผิวหนังขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ขนาด 0.25–0.50 อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิต(International unit)/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สัปดาห์ละ1ครั้ง หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยโรคไต ต้องปรับลดขนาดการใช้ยานี้ตามค่า Creatinine clearance
  • ผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยานี้ตามนัดหมายของแพทย์ทุกครั้ง
  • ระยะเวลาการใช้ยานี้อยู่ที่การตอบสนองของเซลล์มะเร็ง แพทย์จะเป็นผู้ระบุระยะเวลาการใช้ยาได้อย่างเหมาะสมที่สุด

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบลีโอมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบลีโอมัยซินอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาบลีโอมัยซินต้องเป็นไปตามที่แพทย์นัดหมาย ทั้งนี้มาจากเหตุผลด้านระยะเวลาของการออกฤทธิ์ และการกำจัดทำลายยานี้ออกจากร่างกาย กรณีที่ผู้ป่วยลืม/ไม่สามารถมารับการฉีดยานี้ตามนัดหมาย ควรรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรที่เกี่ยวข้อง และทำการนัดหมายใหม่โดยเร็ว

บลีโอมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบลีโอมัยซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด เจ็บหน้าอกทันทีหลังจากได้รับยานี้ เกิดพังผืดในปอด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผลข้างเคียงที่ผิวหนังมักเกิดจากการได้รับยานี้เป็นปริมาณสะสม 150–200 อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิต โดยมีอาการ เกิดผื่นแดงบนผิวหนัง ผมร่วง เกิดผิวหนังมีลักษณะคล้ายหนังคางคก เล็บผิดปกติ และผิวหนังอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในช่องปาก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว อาจมีภาวะ ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เป็นไข้ หนาวสั่น

มีข้อควรระวังการใช้บลีโอมัยซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบลีโอมัยซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในปอด(ปอดอักเสบ) หรือผู้ที่มีสภาพปอดผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร และสตรีมีครรภ์
  • *การได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการ ความดันโลหิตต่ำ เกิดไข้ ชีพจรเต้นเร็ว กรณีนี้ แพทย์จะรักษาตามอาการ(การรักษาประคับประคองตามอาการ) และอาจใช้ยา Corticosteroid และยาปฏิชีวนะร่วมด้วยโดยพิจารณาตามอาการผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับ การตรวจร่างกาย และรับการให้ยานี้ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบลีโอมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

บลีโอมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบลีโอมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาบลีโอมัยซินร่วมกับ ยา Molgramostim ด้วยจะทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อปอดของผู้ป่วยตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบลีโอมัยซินร่วมกับ ยา Phenytoin เพราะจะทำให้การดูดซึมของยา Phenytoin จากระบบทางเดินอาหารลดลง
  • ห้ามผสมยาบลีโอมัยซินร่วมกับยาบางกลุ่ม เพราะจะทำให้เกิดสภาพของยาที่ เข้ากันไม่ได้(เช่น ตกตะกอน)และมีผลกระทบต่อการออกฤทธิ์ ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยาฉีดประเภทกรดอะมิโนจำเป็น, Riboflavin, Dexamethasone, Furosemide, Carbenicillin, Cefazolin, Benzylpenicillin sodium, Methotrexate, Mitomycin และ Hydrocortisone เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาบลีโอมัยซินร่วมกับ ยาAdalimumab ด้วยจะทำให้เกิดภาวะมีไข้ หนาวสั่นเหมือนกับอาการติดเชื้อ ท้องเสีย เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจขัด มีเลือดในเสมหะ/เสมหะเป็นเลือด เป็นต้น

ควรเก็บรักษาบลีโอมัยซินอย่างไร?

ควรเก็บยาบลีโอมัยซินภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น ห้ามเก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

บลีโอมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบลีโอมัยซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Bleocin (บลีโอซิน)Nippon Kayaku

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Bleomycin[2018,March31]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/bleomycin/?type=brief&mtype=generic[2018,March31]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/bleocin/?type=brief[2018,March31]
  4. https://www.drugs.com/cdi/bleomycin.html [2018,March31]
  5. https://www.drugs.com/pro/bleomycin.html [2018,March31]
  6. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=bleomycin [2018,March31]
  7. http://www.just.edu.jo/DIC/AZLibrary/Bleomycin.pdf [2018,March31]