บริวูดีน (Brivudine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

บริวูดีน (Brivudine) เป็นยาต้านไวรัส ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) ที่ประเทศอังกฤษ มีใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรปมาจนปัจจุบัน ซึ่งทางคลินิกนำมารักษาอาการโรคงูสวัด (Herpes zoster) โดยขนาดรับประทานในผู้ใหญ่ใช้เพียงวันละครั้งและดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพการรักษาดีกว่ายา Aciclovir

ยาบริวูดีนมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคอย่างเช่นในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ (เช่นยา Cyclosporin) รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในเด็ก

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาบริวูดีนจะเป็นยารับประทาน โดยตัวยาจะมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวในร่างกายได้ประมาณ 30% เมื่อยาบริวูดีนเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนมากกว่า 95% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 16 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาบริวูดีนออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาบริวูดีนมีกลไกการออกฤทธิ์หลักคือ จะยับยั้งการจำลองไวรัสเพื่อเพิ่มจำนวนไวรัสตัวใหม่ออกมา ผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยอาจได้รับหลังรับประทานยานี้คือ มีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ และมีภาวะเม็ดเลือดต่ำ โดยเฉลี่ยระยะเวลาในการรับประทานยานี้จะเป็นระยะสั้นๆโดยใช้เวลา 7 วัน ซึ่งเมื่อใช้ยานี้ครบกำหนดแล้วห้ามผู้ป่วยใช้ยานี้ต่อเป็นครั้งที่ 2 ด้วยตนเอง และในทางตรงกันข้ามห้ามผู้ป่วยหยุดการรับประทานยานี้เองหรือรับประทานยานี้ไม่ครบตามคำสั่งแพทย์ด้วยจะทำให้ประสิทธิ ภาพการรักษาด้อยลงหรืออาการโรคกลับมาเป็นใหม่ได้อีก

เพื่อความเหมาะสมและปลอดภัยของการใช้ยาบริวูดีน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองอาการและได้รับคำสั่งการจ่ายยานี้จากแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

บริวูดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

บริวูดีน

ยาบริวูดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการโรคงูสวัด (Shingles หรือ Varicella- zoster virus หรือ Herpes zoster)

บริวูดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบริวูดีนคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในไวรัสที่มีชื่อว่า ดีเอ็นเอ โพลีเมอเรส (DNA polymerase/Deoxyribonucleic acid polymerase) ส่งผลให้ไวรัสขาดคุณสมบัติในการจำลองตัวเองขึ้นมาและไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ จากกลไกนี้ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

บริวูดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบริวูดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 125 มิลลิกรัม/เม็ด

บริวูดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาบริวูดีนมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานภายใน 3 วันนับจากมีอาการปรากฏเช่นมีผื่นคันขึ้น หรือรับประทานภายใน 2 วันนับจากเริ่มเห็นตุ่มพุพอง โดยรับประทานวันละ 125 มิลลิกรัมครั้งเดียว ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้เป็นเวลา 7 วันต่อเนื่อง
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: โดยทั่วไปห้ามใช้ยานี้เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนถึงผลข้างเคียง การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่งหลังรับประทานยานี้ครบ 7 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรต้องกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ห้ามกินยานี้ต่อเนื่องเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบริวูดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบริวูดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบริวูดีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

บริวูดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบริวูดีนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงลดต่ำจนเกิดภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวในเลือดชนิดแกรนูโลไซต์ (Granulocyte) ต่ำ เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) ชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) และชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) เพิ่มสูงขึ้น และเกล็ดเลือดมีปริมาณลดลง/ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน ผิวหนังเป็นจ้ำแดง เหงื่อออกมาก มือ-เท้า-ใบหน้า-ลิ้น-ริมฝีปากมีอาการบวม เกิดภาวะความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจลำบาก มีอาการไอ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หรือมีอาการง่วงนอน การรับรสชาติเปลี่ยนไป มีภาวะตัวสั่น
  • ผลต่อภาวะจิตใจ: เช่น มีภาวะประสาทหลอน รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีความดันโลหิตต่ำ มีภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ
  • ผลต่อกระดูก: เช่น มีอาการปวดกระดูก
  • ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น ตับวาย ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้บริวูดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบริวูดีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัดอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา 5-Fluorouracil ในทุกรูปแบบผลิตภัณฑ์เช่น ยาฉีด ยารับประทาน หรือยาทาเฉพาะที่
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำเช่น ผู้ป่วยเอชไอวี
  • ห้ามปรับลด-เพิ่มขนาดรับประทานยานี้เอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้หรือเพิ่มระยะเวลาของการรับประทานยานี้โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • หลังรับประทานยาบริวูดีนแล้วมีอาการแพ้ยานี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม หรือมีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีและพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • เมื่อรับประทานยานี้ครบคอร์ส (Course) การรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับหรือกับผู้ที่มีภาวะตับอักเสบ
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานทุกชนิดรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปหลังรับประทานยาบริวูดีนแล้วอาการดีขึ้น อาจพบภาวะปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัด/ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด (Postherpetic neuralgia) ซึ่งหากพบอาการปวดมากในบริเวณเกิดผื่นงูสวัด ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบริวูดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บริวูดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบริวูดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยาบริวูดีนร่วมกับยาที่ใช้บำบัดโรคมะเร็ง (ยาเคมีบำบัด) อย่างเช่นยา Fluorouracil (5-FU) เพราะยาบริวูดีนสามารถก่อให้เกิดพิษ/ผลข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้สูงขึ้น
  • ห้ามรับประทานยาบริวูดีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา

ควรเก็บรักษาบริวูดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาบริวูดีนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

บริวูดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบริวูดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Zostex (ซอสเท็กซ์)Berlin-chemie AG

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยาบริวูดีนที่จำหน่ายในประเทศตะวันตกเช่น Mevir, Brivir

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Brivudine [2016,May7]
  2. http://www.mims.com/vietnam/drug/info/zostex/ [2016,May7]
  3. http://mri.medagencies.org/download/DE_H_0343_001_FinalPI_2of3.pdf [2016,May7]
  4. http://link.springer.com/article/10.1007%2Fs40278-014-4180-4 [2016,May7]